กระบี่ - ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กระบี่ไม่อยากให้เกิดความบาดหมางกรณีจังหวัดพังงาออกตัวแย่งเรือพระทองจากจังหวัดกระบี่ ที่ได้รับมอบจากกองทัพเรือมาทำปะการังเทียม อ้างเป็นสมบัติของคนพังงาฟังไม่ขึ้น เพราะเรือรบเป็นสมบัติของชาติ ที่สำคัญ กระบี่ทำโครงการมาร่วม 3 ปีแล้ว อยู่ๆ จะอ้างสิทธิที่มีชื่อเหมือนเกาะพระทองเป็นสมบัติของพังงาไม่ได้
นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ด้านนโยบายและแผนการพัฒนาจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงกรณีที่ นายกฤษ ศรีฟ้า เลขานุการ รมว.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสื่อสาร นายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.พังงา นายมานิต เพียรทอง นายอำเภอคุระบุรี และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับชาวจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องการขอนำเรือรบหลวง “พระทอง” ซึ่งเป็น 1 ในเรือที่ปลดประจำการแล้ว ในโครงการจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ของ จ.กระบี่ เพื่อทำเป็นแนวปะการังเทียม และแหล่งดำน้ำกลับไปไว้ที่จังหวัดพังงา โดยให้เหตุผลว่า เรือรบหลวง “พระทอง” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับเกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ควรนำกลับมาไว้ที่ จ.พังงา เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดพังงา
นายชวน กล่าวว่า ชาวจังหวัดกระบี่ไม่เคยคิดแย่งเรือรบหลวงพระทอง จากชาวพังงา โดยเมื่อปี 2553 คณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้รับการประสานงานจากกองทัพเรือว่ามีเรือรบหลวงที่ได้ปลดประจำการ หากทางจังหวัดกระบี่ต้องการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทางกองทัพเรือก็ยินดีจะมอบให้ ทางคณะที่ปรึกษาฯ จึงได้ประสานไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอให้เป็นเจ้าภาพช่วยดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เบื้องต้น ทางจังหวัดกระบี่ได้รับมอบเรือ จำนวน 4 ลำ ประกอบด้วย เรือรบหลวงช้าง เรือรบหลวงโกลัม เรือรบหลวงตะลิบง และเรือรบหลวงราวี แต่ต่อมา ทางจังหวัดตราดได้ขอเรือช้าง โดยบอกว่าชื่อพ้องกับเกาะช้าง ซึ่งทางจังหวัดกระบี่ก็คืนให้ และทางกองทัพเรือได้มอบเรือโพธิ์สามต้นให้ แต่ทางจังหวัดจันทบุรี ก็ได้ทำเรื่องขอคืน ทางจังหวัดกระบี่ก็คืนให้อีก โดยได้มอบเรือพระทองให้แทน พร้อมกับได้ลงนาม MOU ในการมอบเรือทั้ง 4 ลำให้เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา
“การที่นายกฤษ และคณะได้บอกว่า เรือพระทองเป็นของชาวจังหวัดพังงา จึงต้องนำกลับมาตุภูมิเป็นการเข้าใจที่คลาดเลื่อน เพราะเรือพระทองไม่ได้เป็นของจังหวัดพังงา เพียงแต่ทางกองทัพเรือใช้ชื่อตรงกับเกาะพระทองเท่านั้น โดยข้อเท็จจริงเรือพระทองเป็นสมบัติของชาติ และเป็นของกองทัพเรือ ทางผู้บัญชาการทหารเรือจึงเป็นผู้มีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะยกให้ใคร และที่ผ่านมา ทางกองทัพเรือได้ตัดสินใจมอบให้จังหวัดกระบี่ไปแล้ว อยู่ๆ ทางจังหวัดพังงาบอกว่าอยากได้เรือพระทองโดยที่ไม่ได้มีการวางแผนอะไรไว้เลย เพียงแต่อ้างว่าเพื่ออยากให้เป็นความภูมิใจของชาวพังงา ซึ่งตนคิดว่าความภูมิใจที่เกิดขึ้นนั้นต้องมาด้วยความถูกต้องชอบธรรม มีเหตุมีผล ซึ่งจังหวัดพังงาเริ่มอยากได้ไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ทางจังหวัดกระบี่เริ่มทำโครงการมาแล้วเกือบ 3 ปี”
นายชวน กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเมืองอย่างแน่นอน และเป็นการสร้างกระแส ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เพราะจังหวัดพังงาเป็นพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงกัน มีอะไรก็ควรพูดด้วยเหตุผล และหารือกันอย่างพี่น้อง การที่จังหวัดพังงาระดมคนมาปลุกกระแส สร้างพลัง และใช้คำว่าทวงคืนเรือพระทอง เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และนายกฤษ ก็ได้มีการพบกับตน และมีการขอเรือคืนจากตน ซึ่งตนก็บอกว่าเรือเป็นของชาติ ของกองทัพเรือผู้ที่มีหน้าที่มอบให้เป็นกองทัพเรือไม่ใช่ตน และขณะนี้ก็ได้รับการประสานงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ไปร่วมประชุมเพื่อหาข้อยุติว่าเรือจะไปอยู่กับจังหวัดใดในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ซึ่งตนก็เห็นชาวจังหวัดพังงาที่มีความต้องการได้เรือพระทอง แต่ต้องอยู่บนความชอบธรรมด้วย ไม่ใช่มาบีบ หรือกดดันกัน เพราะทราบว่า ทางจังหวัดพังงาได้ให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีออกหนังสือขอระงับการมอบเรือพระทองให้จังหวัดกระบี่แล้ว
สำหรับเรือพระทอง จะให้จังหวัดกระบี่ หรือจังหวัดพังงา ตนขอให้เป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ เนื่องจากจังหวัดกระบี่ เป็นเพียงผู้รับเท่านั้น การตัดสินใจให้ใครก็ขอให้เป็นของผู้ให้ และอยากเห็นข้อยุติที่สร้างความสบายใจให้กันทั้งสองจังหวัด
“เรือรบหลวงพระทองเป็นเรือยกพลขึ้นบก ต่อที่อู่เจฟเฟอร์สันโบต ประเทศสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือได้สั่งซื้อมา ขนาดของเรือยาว 98.1 เมตร กว้าง 15 เมตร มีระวางขับน้ำปกติ 1,780 ตัน ความเร็วสูงสุด 11.2 นอต รัศมีทำการเมื่อความเร็วสูงสุด 17,000 ไมล์ อาวุธปืน 40/60 แท่นคู่ 2 แท่น ปืน 40/60 แท่นเดี่ยว 4 แท่น ปืน 0.50 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก ทหารประจำเรือ 129 นาย ขึ้นระวางเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2520”