คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ เฟื่องฟู
ปัญหาการท่องเที่ยวมีทุกภาคทั่วประเทศลักษณะเดียวกันทั้งสิ้น ภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการต่างรู้กันดี เมื่อปัญหารุนแรงขึ้นก็เรียกประชุมแก้กันที เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าชนิด “ขายผ้าเอาหน้ารอด” เมื่อผ่านไป เรื่องเงียบแล้วก็แล้วกันไป เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง
เหมือนหมอตรวจคนไข้ ที่รักษาตามอาการปวดหัวตัวร้อนก็เอายาแก้ปวด แก้ไข้ไปกิน ปวดท้องก็เอายาธาตุลดกรดในกระเพาะไปกิน ไม่ได้วิเคราะห์เจาะลึกไปที่ต้นตอ หาสาเหตุที่มาของโรค
หลายปัญหาที่เกิดขึ้น หลอกลวงต้มตุ๋น รถตู้เถื่อน แท็กซี่ป้ายดำ เจ็ตสกี หรือแม้กระทั่งปล้นจี้ ข่มขืน ฆ่านักท่องเที่ยวเกิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ไม่ว่า เหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก หรือใต้ เกิดทีเจอทีก็โวยกันทีว่าเป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ ต่างกลุ้มรุมจี้ตำรวจ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามสืบสวนเอาตัวคนร้ายมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว
เป็นข่าวในจอโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือออนไลน์ เว็บไซต์ต่างๆ อย่างมาก แค่เดือนสองเดือนก็เงียบหาย
บางรายก็ได้ตัวคนร้ายมา บางรายก็หายเข้ากลีบเมฆ เงียบเป็นเป่าสาก เพราะขาดการติดต่อ ติดตามจากฝ่ายโจทก์ หรือผู้เสียหายที่กลับประเทศไปแล้ว เมื่อขาดโจทก์ขาดเจ้าทุกข์ ก็ต้องปล่อยตัวไป คนร้ายก็ย่ามใจ ก่อเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะคดีฉกชิงวิ่งราว หรือปล้นจี้ หลอกลวงฉ้อโกง ขูดรีดข่มขู่ เอาเปรียบนักท่องเที่ยว
แต่ระยะหลัง มีการตั้งกงสุลประเทศต่างๆ ขึ้นมาดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยว คอยตามจี้ตามไชปัญหาที่เกิดขึ้นให้ หลายปัญหาดูจะดีขึ้น แต่เป็นแค่เฉพาะเรื่องเฉพาะราย ไม่ใช่เป็นการแก้ที่ถาวร หรือแบบบูรณาการ
ที่ภูเก็ต เมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ออกมาเต้นแร้งเต้นกา จัดประชุมผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวมีหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มผู้ประกอบการเข้าร่วม รถจอดเต็มศาลากลาง เป้าประสงค์เพื่อให้รีบแก้ปัญหาของการท่องเที่ยวทุกอย่างโดยด่วน
และย้ำแก้ให้ได้ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเข้าเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
ผลประชุมเท่าที่รู้ก็แค่ได้ข้อสรุปจากฝ่ายผู้ประกอบการว่า “กฎหมายต้องเข้ม” เมื่อเลิกประชุมต่างคนต่างหอบแฟ้มสะบัดก้นกลับ หลังจากนั้นก็ยังไม่มีข่าว
ใคร.. หน่วยงานไหนนำไปต่อยอดอย่างไร?
ไม่รู้อีกเหมือนกันว่า กฎหมายไทยได้ปรับปรุงแก้ไขบทลงโทษหนักเบา เพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามกาลเวลา เหมาะสมกับผู้ก่อเหตุที่นับวันจะดื้อ มีแรงต้านสูงขึ้น เหมือนเชื้อโรค หรือโรคภัยไข้เจ็บที่เรียกว่า “ดื้อยา” หรือไม่ เพราะยายังมีการค้นคว้าเพิ่มประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา แต่ฝ่ายนิติบัญญัติของเมืองไทยยังอืดอาด
สังเกตดูเถอะรัฐบาลแทบทุกสมัย มัวแต่เล่นเกมการเมือง จ้องจังหวะแสวงหาตำแหน่ง หาอำนาจ เพื่อกอบโกยถอนทุน ฝ่ายผู้ปฏิบัติ หรือผู้รับผิดชอบรักษากฎหมาย ก็จ้องจังหวะหาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ เข้ากระเป๋าตัวเอง ล้วนพอกัน
ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นปัญหาของทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง คอร์รัปชัน ยาเสพติด การท่องเที่ยว และอีกมากมายหลายปัญหาสารพัด ที่เป็นต้นเหตุของการแก้แก้กันไม่ได้เลยสักปัญหา จนเป็นที่มาให้วิจารณ์กัน ด่ากันได้ตลอดกาล เหมือนเป่าปี่ให้ควายฟัง
ธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น ดูแล้วมันเป็นธุรกิจที่ทำกันง่าย ลงทุนไม่มาก หรือแทบจะไม่ต้องลงทุนเลย ที่เรียกว่า “จับเสือมือเปล่า” อาศัยความกล้า หน้าด้านหน้าทน พูดจาพอสื่อสารกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาให้เข้าใจได้เท่านั้นเป็นพอ
ธุรกิจนี้ เริ่มต้นด้วยการขายทรัพย์สิน ขายมรดกที่มีอยู่แล้ว ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ หาดทราย ชายทะเล หรือแม้แต่ใต้ทะเล ขึ้นมาถึงป่าเขาลำเนาไพร รวมไปถึงวัฒนธรรมประจำถิ่น แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ ปูชนียวัตถุปรักหักพัง โบราณสถาน มีอยู่ทั่วประเทศไทยล้วนอุดมสมบูรณ์ เป็นสินค้าที่ขายได้หมด ไม่ต้องลงทุน
ถ้าจะลงทุน ก็แค่ลงทุนเชื้อเชิญเขามาซื้อสินค้าดังกล่าวเท่านั้น
นอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องของธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะตามมาในท้องถิ่น ที่นักท่องเที่ยวย่างเหยียบเข้าไป ซึ่งเป็นอาชีพเสริมในช่วงเริ่มต้น ก่อนจะกลายเป็นอาชีพหลัก หลังท่องเที่ยวเติบโต นั่นคือ อาชีพนำเที่ยว เป็นมัคคุเทศก์ หรือไกด์ แล้วก็ร้านค้าขายสารพัด รวมทั้งอาหาร และเครื่องดื่ม สร้างที่พักโรงแรม บาร์ผับ และอื่นๆ ที่คิดว่าเป็นความต้องการของนักท่องเที่ยว
แม้กระทั่ง เรื่อง “เซ็กซ์!”
นี่แหละเริ่มต้นของปัญหา เหล่านักขุดทอง นักฉวยโอกาส รวมทั้งนักลงทุนทั้งรายย่อย รายใหญ่ ต่างก็เข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น ขอแชร์ทำกินบ้าง ทั้งถูก และผิดกฎหมาย อย่างเช่น การขูดรีด ต้มตุ๋น หลอกลวงนักท่องเที่ยว และอื่นๆ ถ้าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ก็ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กว้านซื้อที่ดินเรือกสวนไร่นาชาวบ้าน สร้างโรงแรม รีสอร์ต หนักเข้าก็รุกเข้าป่าสงวน อุทยานฯ ล้วนเกิดจากกลุ่มคนเหล่านี้
นักลงทุน นักฉวยโอกาสกลุ่มนี้แหละที่รุกอย่างไม่ยั้ง นำเอาวัตถุดิบ และทรัพยากรที่แสนจะสมบูรณ์ของเมืองไทยไปทำลาย แปรสภาพจนยับเยิน ออกเร่ขายเป็นว่าเล่น ต่างกอบโกยกันไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่ม
โฆษณาขายอย่างเดียว ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากเท่าไหร่ยิ่งดี ไปโรดโชว์ที่โน่น ที่นั่นประสบผลสำเร็จ แล้วก็คุยโอ่โอ้อวด ธุรกิจท่องเที่ยวโตไว สร้างรายได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งยุโรป ทั้งเอเชียทะลักเข้ามามากมาย นับแสนนับล้านคนต่อปี ต้องสร้างเพิ่มทั้งโรงแรม ทั้งรีสอร์ตมารองรับ
อย่างที่ภูเก็ต สนามบินต้องขยาย ปรับเป็น “ฮับ” เป็นศูนย์การบินนานาชาติในภูมิภาค รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่บรรทุกนักท่องเที่ยวแต่ละไฟลต์นับร้อยนับพันคน มาจากอีกฝั่งซีกโลก ด้านท่าเรือน้ำลึก ที่สร้างขึ้นสำหรับขนถ่ายสินค้า ก็ต้องปรับมารับเรือท่องเที่ยว เรือสำราญขนาดใหญ่ ที่ใหญ่จริงๆ จนมีปัญหากับเรือขนถ่ายสินค้า และต้องวางแผนขยายท่าเรือเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่โตออกไปอีก ทั้งๆ ที่มีพื้นที่จำกัด
ท่าเรือเล็กๆ สำหรับชาวบ้านใช้สอยกันมาแต่โบร่ำโบราณ ต้องปรับเป็นท่าเรือทัวร์ ไปยังเกาะแก่งต่างๆ ส่วนเรือหางยาว เรือประมงตกปลา ชาวบ้านขนสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องไปหาที่ใหม่ หรือไม่ก็ต้องเดินแบกสัมภาระลุยน้ำ อย่างท่าเรือฉลอง ท่าเรืออ่าวปอ บางโรง และอีกหลายพื้นที่
ทางฝั่งตะวันออกของเกาะที่เป็นป่าชายเลน ถูกรุกสร้างเป็นท่าเรือมารีนา สร้างอู่ต่อเรือ ซ่อมเรือยอชต์ ชาวประมงพื้นบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ถูกไล่ ไร้ที่ทำกิน
ในที่สุด ธรรมชาติที่สวยงามก็ถูกทำลาย ตามมาด้วยการไล่ล่า ทวงคืนผืนป่า ทวงคืนธรรมชาติ ตั้งแต่บนเขายันทะเล และเกาะแก่งที่มันสูญเปล่า ได้คืนมาก็เป็นป่าคอนกรีต ทุบทิ้งมันก็เป็นแค่เศษอิฐเศษหินเศษปูนกองพะเนินเทินทึกที่หาคุณประโยชน์อะไรไม่ได้เลย
ที่เป็นอย่างนี้เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เจ้าหน้าที่บางหน่วยงานกลับอำนวยความสะดวกให้แก่ปัญหา หรือร่วมก่อปัญหา เพราะได้สินจ้างรางวัลได้ผลประโยชน์ จึงได้สานต่อปัญหาให้มันยุ่งเหยิงหนักขึ้น
กลับมาดูด้านผังเมือง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคในแหล่งท่องเที่ยวทุกพื้นที่ ไม่เฉพาะที่หนึ่งที่ใด บรรพบุรุษสร้างไว้ และปรับปรุงกันตามประสา ตามความจำเป็นของท้องถิ่น ตามจำนวนประชากรที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา จิปาถะ รองรับวิถีชุมชนอย่างพอเพียงได้นานเท่านาน
ถนนทุกสายในตัวเมืองสร้างขึ้นเพื่อคนในท้องถิ่นได้ใช้สัญจรไปมา ด้วยการเดินเท้า หรือยานพาหนะขนาดเล็ก ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้รถบัส รถทัวร์สิบล้อ รถพ่วงรถบรรทุกยาวเหยียดกว่าสิบวามาวิ่ง หรือให้รถเก๋งสองประตู สี่ประตูทั้งป้ายแดงป้ายดำ และไม่มีป้ายนับหมื่นนับแสนคันมาวิ่ง มาจอดจนไม่มีช่องว่างให้คนเดินดินกินข้าวแกงได้สัญจรอย่างปัจจุบัน
ที่เป็นอย่างนี้ก็ด้วยวิธีการของนักลงทุน ที่ขนเงินมาเป็นกระสอบเข้ายึดเมือง ยึดแหล่งทำกิน ทำลายวิถีชุมชนของคนในท้องถิ่น ด้วยการ “ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง” ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาย่ำยีทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของท้องถิ่น ทะลักเข้ามาเป็นหมื่นเป็นแสนไม่มีลิมิต บันยะบันยัง เร่งจะถอนทุนโกยกำไร ซ้ำยังมีประชากรแฝงที่ตามนักลงทุนมาหากินกับนักท่องเที่ยวอีกเป็นพันเป็นหมื่น ดูแล้วมากกว่าประชากรในท้องถิ่นเสียอีก
เป็นอีแบบนี้ สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่สร้างขึ้นมารองรับความเจริญของท้องถิ่น ประชากรแค่พันคนหมื่นคน กลับต้องมาแบกรับการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวชนิดก้าวกระโดด รองรับคนเป็นแสนในเวลาอันรวดเร็ว อะไรจะเกิดขึ้น มันก็โอเวอร์หมด
เอากันง่ายๆ เห็นกันชัดๆ น้ำจืดในหน้าแล้ง ในบางพื้นที่ไม่ว่าเกาะสมุย เกาะพะงัน ทางฝั่งอ่าวไทย หรือเกาะภูเก็ต ทางฝั่งอันดามัน ส่อเค้าจะไม่พอบริโภค ขยะที่กำลังล้นเมือง เหม็นเน่าอยู่ทุกซอกทุกมุม ทั้งบนป่าบนเขา ตามเกาะแก่ง แม้กระทั่งใต้ทะเลทั้งสองฝั่ง นักลงทุนเหล่านั้นช่วยอะไร แค่ให้ความเห็นชี้แนะ แต่ไม่ได้ลงทุนทำ หรือกำจัด และที่พูดที่ชี้แนะนั่น ภาครัฐจะทำได้หรือไม่ ก็รู้กันอยู่ว่าเพราะอะไร
ที่ทำอยู่ตอนนี้ แค่ออกข่าวปาวๆ ประชาสัมพันธ์เอาหน้า ว่าได้ทำการรณรงค์ เก็บขยะตามชายหาด ตามสถานที่บริเวณโรงแรม รีสอร์ต บ้านจัดสรร ที่ทำมาหากินของตน แล้วก็เอามากองไว้ให้ท้องถิ่นขนไป เสียภาษีให้แล้ว เสียค่าขยะให้แล้ว เอาเงินฟาดหัวไปแล้ว
“มึงมีหน้าที่ขน ก็ขนไป จะเอาไปไหนช่างมึง”
ในที่สุดวิธีการแก้ไขปัญหาหลายปัญหา ทำได้แค่การรณรงค์ อย่างขยะก็รณรงค์ให้ลดการใช้โฟม ใช้ถุงพลาสติก แต่ในท้องตลาด ยังมีถุงพลาสติกขายทั่วไป ร้านค้ายังคงต้องใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้า ทั้งอาหารหวานคาวก็ต้องใช้ถุงพิเศษที่เรียกว่าถุงร้อน เป็นถุงที่ย่อยสลายยาก คนไทยยุคใหม่ไม่มีเวลาทำอาหาร และอาหารสด แต่ก่อนซื้อปลาสด แม่ค้าใช้เถาวัลย์ย่านางตากแห้ง ร้อยเหงือกเป็นพวง ซื้อผักสดแม่ค้าผูกด้วยเชือกที่ลอกจากต้นกล้วยตากแห้ง ต้นกก ไม่มีตะกร้าก็หิ้วเอา ส่วนปัจจุบันซื้ออะไรๆ ก็ยัดใส่ถุงพลาสติกหมด
ลักษณะเดียวกันรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า แต่ทั้งบุหรี่ทั้งเหล้าก็ยังมีวางขายตามตลาดร้านค้าของชำ แผงลอยทั่วไป
เจออีแบบนี้ ปัญหาอย่างนี้ แก้ด้วยการรณรงค์อะไรๆ ก็รณรงค์ขึ้นป้ายคัตเอาต์ใหญ่โตเต็มบ้านเต็มเมือง อีกกี่ชาติจะเห็นผล สุดท้ายก็เสียเงิน เสียงบประมาณค่าป้าย ลมพัดพัง เก็บไปทิ้ง ก็เป็นขยะอีก
พอปัญหาเกิดหนักเข้า ภาครัฐหมดปัญญา ภาคเอกชนก็ไดแต่เรียกร้อง จะให้ภาครัฐแก้ ประชุมกันแล้วประชุมกันอีก กี่ครั้งกี่หนก็เข้าอีหรอบเดิม กำชับกำชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาไปจัดการ ครั้งแล้วครั้งเล่าก็เหมือนเดิม คือทำอะไรไม่ได้ จังหวัด หรือท้องถิ่นไม่มีอำนาจเด็ดขาด เงื้อแล้วเงื้ออีก สุดท้ายก็แค่ขู่
ในบางปัญหาหมดท่าเข้าจริงๆ ก็เกิดไอเดีย วางแผนดึงภาคเอกชน ผู้ประกอบการที่เป็นต้นตอของปัญหา ให้เข้ามาร่วมมีบทบาท ว่ากันง่ายๆ ให้เข้ามาร่วมแก้ หรือเอาไปแก้กันเอง ภาครัฐนั่งดูเป็นพี่เลี้ยง สุดท้ายก็คุมกันไม่ได้ และแล้วก็มาได้ข้อสรุปบอก
กฎหมายต้องเข้ม ต้องมีกฎหมายรองรับ ตอนนี้ในพื้นที่ ทั้งจังหวัดและท้องถิ่นไม่มีใครมีอำนาจ หรือมีก็ไม่กล้าแตะ ทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลางหมด รุกที่ รุกป่า รุกอุทยานฯ ต้องให้ส่วนกลางลงมาจัดการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือจังหวัดคอยรับใช้
ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมานานโข มีเลือกตั้งทุกระดับ มี ส.ส. มี ส.ว. และทั้ง ส.ส. ส.ว. หลายจังหวัดเป็นเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องเจ้าของบริษัททัวร์ เจ้าของโรงแรมในทุกภาค และยังมีตำแหน่งกรรมาธิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ลองมานั่งสุมหัวพลิกกฎหมายดู
บทไหนมาตราไหนมันโบราณประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ สมัยปู่ย่าตายายเอามาปัดฝุ่นแก้กันใหม่ให้มันทันสมัยเข้มข้น อะไรต่อมิอะไรที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ กฎหมายตามไม่ทันก็ร่างขึ้นมา จังหวัด ท้องถิ่นไม่มีอำนาจก็หาทางกระจายอำนาจลงไป ปรุงแต่งขึ้นให้มันเข้มข้นตามที่กลุ่มของท่านเรียกร้อง ไม่ดีกว่ามาแหกปากปาวๆ โยนกันไปโยนกันมาอย่างทุกวันนี้หรือ