xs
xsm
sm
md
lg

พะยูนถูกใบพัดเรือฟันทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ตายแล้วพะยูนถูกใบพัดเรือฟัน 7 แผล หลังเจ้าหน้าที่พยายามติดตามช่วยเหลือยื้อชีวิต แต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายอนาถ เจ้าหน้าที่ผ่าพิสูจน์วันนี้ พบถูกฟันลึกถึงกะโหลก
ขณะเจ้าหน้าที่นำพะยูนกลับมาที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก  (ขอบคุณภาพจากศูนย์อนุรักษรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ).
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวถึงการช่วยชีวิตพะยูนซึ่งถูกใบพัดเรือฟันที่บริเวณส่วนหัว และหลังได้รับบาดเจ็บสาหัส ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 นำโดย นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการ นำเรือออกไปช่วยเหลือพะยูนตัวดังกล่าว พบว่าขณะที่เข้าไปช่วยเหลือพะยูนมีอาการเพลีย ไม่ดำน้ำลงไปกินหญ้าทะเลแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงใช้อวนล้อมจับเพื่อนำตัวขึ้นเรือยาง 107 ของทางศูนย์อนุรักษ์เพื่อนำมารักษาบาดแผล แต่ขณะที่นำกลับเข้าฝั่งพะยูนได้ตายลงเนื่องจากทนพิษบาดไม่ไหว
ในที่สุดแม่พะยูนก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายลงในที่สุด (ขอบคุณภาพจากศูนย์อนุรักษรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ).
โดยในวันนี้ (7 พ.ย.) ทางเจ้าหน้าที่จะผ่าซากพะยูนเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการดูบาดแผลภายนอกพบว่ามีบาดบาดแผลถูกใบพัดเรือฟันจำนวน 7 แผล มีบางแผลที่ถูกฟันลึกลงไปถึงกะโหลก ซึ่งในการช่วยเหลือในระยะแรกนั้นทางเจ้าหน้าที่ใช้วิธีเฝ้าดูพฤติกรรมของพะยูน พบว่า ในช่วงวันเสาร์ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา พะยูนยังสามารถดำน้ำลงไปกินหญ้าทะเลได้ แต่ในช่วงวันจันทร์ และวันอังคารที่ผ่านมาพบว่า ลอยน้ำอยู่เฉยๆ ทางเจ้าหน้าที่จึงเริ่มทำการรักษา สาเหตุที่ไม่จับตัวมาในครั้งแรกที่เจอเพราะไม่อยากให้พะยูนเครียด จึงต้องพยายามให้การรักษาในทะเล แต่สุดท้ายอาการพะยูนแย่มากจำเป็นต้องเอาตัวมารักษาจึงได้ใช้อวนจับมา แต่ก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว
สลดพะยูนขนาดใหญ่ถูกใบพัดเรือฟันตาย(ขอบคุณภาพจากศูนย์อนุรักษรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ).
นายก้องเกียรติ กล่าวต่อไปว่า พะยูนตัวดังกล่าวเป็นพะยูนเพศเมียที่ตัวใหญ่มาก น้ำหนักประมาณ 388 กิโลกรัม ยาว 2.70 เมตร เป็นแม่พันธุ์ที่มีสภาพร่างกายสมบูรณ์ และคาดว่าน่าจะมีลูกมาแล้วหลายตัว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์พะยูนในทะเลอันดามันถือว่ามีแนวโน้มที่แย่ลง ซึ่งจากการสำรวจครั้งสุดท้ายเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า ในพื้นที่จังหวัดตรังพบพะยูนหากินอยู่ประมาณ 135-145 ตัว ส่วนที่จังหวัดกระบี่ที่เกาะศรีบ่อยา พบมีพะยูนอยู่ประมาณ 6-15 ตัว และพื้นที่อ่าวพังงาตอนใน ซึ่งรวมมาถึงจังหวัดภูเก็ตพบประมาณ 15 ตัว และจากตัวเลขสถิติที่ทางกลุ่มสัตว์ทะเลหาอยากเก็บไว้พบว่า ในช่วง 17 ปี จนถึงปัจจุบันพบว่า พะยูนในประเทศไทยตายไปแล้ว 341 ตัว ส่วนปีนี้พบพะยูนตายไปแล้ว 9 ตัว เป็นพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรัง 8 ตัว และพื้นที่ภูเก็ต 1 ตัว
ตายอีก 1 ตัวจากฝีมือมนุษย์ พะยูนขนาดใหญ่  (ขอบคุณภาพจากศูนย์อนุรักษรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ).
นายก้องเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพะยูน คือเรื่องของเครื่องมือการทำประมงประเภทอวนที่ทำให้พะยูนว่ายน้ำเข้าไปติด และตัวที่จังหวัดภูเก็ตเป็นตัวแรกที่เห็นหลักฐานชัดเจนว่าถูกใบพัดเรือฟันจนได้รับบาดเจ็บก่อนที่จะตายลงในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น