xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหา "หยุดวันศุกร์” ภาครัฐ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แล้วหรือยัง/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
แฟ้มภาพเหตุลอบวางระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งเป็นยุทธวิธีสร้างความเสียหายที่รุนแรงต่อทรัพย์สินและทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่
แม้นว่าการข่มขู่ประชาชนใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ให้หยุดทำงานในวันศุกร์ โดยกลุ่มแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะผ่านไปแล้ว 1 เดือน แต่สถานการณ์ความหวาดกลัวต่อคำขู่ของคนในพื้นที่ยังไม่สามารถคลี่คลายไปสู่สภาพของความเป็น ปกติ ยังมีประชาชนกว่า 50 เปอร์เซ็น ที่ยังคงหวาดกลัวกับคำขู่ที่ถูก “ผลิตซ้ำ” ชนิดซ้ำแล้วซ้ำอีก จากทั้งฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยมี “สื่อ” เป็นตัว “นำสาร” ไปสู่สาธารณถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้แม้ว่าร้านค้าในตัวเมืองในเขตเทศบาลใหญ่ๆ เช่น เทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองปัตตานี และเทศบาลเมืองนราธิวาสจะดูดีขึ้น เพื่อไม่ใช่ถิ่น “ไกลปืนเที่ยง” ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และผู้บริหารท้องถิ่นอย่างนายกเทศบาลสามารถสร้างความมั่นใจในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนได้มากขึ้น รวมทั้งวิธีการ “กระตุ้น” ให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยด้วยการ แจกคูปองให้กับ “ผู้ซื้อ” และแจกทองคำ ให้กับ “ผู้ขาย” เป็นการสร้างคึกคักให้เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง

แต่พื้นที่อีกหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นถิ่น “ไกลปืนเที่ยง” ประชาชนยังหวาดกลัวคำขู่ และหยุดงานวันศุกร์ต่อไป เพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากสถานการณ์ “ฆ่ารายวัน” ที่เกิดขึ้น ถูกนำเอาไปยึดโยงกับเรื่องการข่มขู่ให้หยุดงานวันศุกร์จนแยกกันไม่ออกว่า โดยข้อเท็จจริงเรื่องการฆ่ารายวันกับเรื่องหยุดงานวันศุกร์เป็นสาเหตุที่มาของคนละเรื่อง

โดยเฉพาะที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งมีเหตุการณ์ข่มขู่ให้หยุดวันศุกร์ ด้วยการวางระเบิด “คาร์บอมบ์” กลางตลาดเทศบาลตะลุบันที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บกว่า 50 คน มีบ้านเรือน ร้านค้า ยานพาหนะ ได้รับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และหลังจากเกิด “คาร์บอมบ์”ขึ้น ยังปรากฏมีเหตุการณ์ขว้างระเบิดใส่ตลาดโต้รุ่งอีก 2 ลูก แต่โชคดีที่ระเบิดด้าน และต่อมามีการขว้างระเบิดใส่ร้านค้าแผงลอย ทำให้มีผู้บาดเจ็บอีก 4-5 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต่อเนื่อง จึงทำให้เขตเทศบาลตะลุบัน อ.สายบุรี กลายเป็น “เมืองเก่า” ที่เงียบสงบ วังเวง เพราะ ร้านค้าปิดอย่างต่อเนื่องเกือบ 100 เปอร์เซ็น ขณะที่บ้านเรือนประชาชน ปิดประตู หน้าต่าง เพราะต่างอยู่กันด้วยความหวาดระแวง หวาดกลัว ไม่มั่นใจในอำนาจรัฐ และไม่รู้ว่า เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่

นั่นเป็นสภาพของบ้านเมืองที่ได้รับผลกระทบ แต่สภาพความเดือดร้อนของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถูกสะท้อนจากการลงพื้นที่รับฟังปัญหา

และความรู้สึกของประชาชนจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และการแก้ปัญหา และการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา พบว่า นอกจากประชาชนในเขตเทศบาลตะลุบันจะไม่มั่นใจต่อการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ จนไม่กล้าที่จะกลับไปใช้ชีวิตดั่งเดิมแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบทุกคนยังสะท้อนถึงการแก้ปัญหาที่ล่าช้าของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นหลังเกิดเหตุ หน่วยงานของรัฐไม่เคยสนใจติดตามดูแลว่าคนที่บ้านช่องถูกเพลิงไหม้พวกเขาจะอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร และอยู่อย่างไร มีกินหรือไม่ รวมทั้งขบวนการ “เยียวยา” จ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหาย ที่ล่าช้า ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับผู้เดือดร้อน ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ในความรู้สึกของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ แต่กลายเป็นประเด็นเล็กที่หน่วยงานของรัฐไม่เข้าใจ และไม่เข้าถึงจนกลายเป็น “เงื่อนไข”ในพื้นที่

และอีกหนึ่งความเดือดร้อนที่เกิดจากการ “หยุดวันศุกร์” ที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่มีใครพูดถึงคือความเดือดร้อนของโรงพยาบาลประจำอำเภอ เช่นที่ อ.สายบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ที่มีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เป็นจำนวนมาก โดยโรงพยาบาลประจำอำเภอเหล่านี้ต้องซื้ออาหารสดในการทำอาหารให้กับผู้ป่วยจากตลาดวันต่อวัน เพราะไม่มีตู้ถนอมอาหารขนาดใหญ่ ดังนั้นการที่ตลาดสายบุรีปิดไปเลยอย่างที่เกิดขึ้น จึงสร้างความเดือดร้อนกับโรงพยาบาลที่ไม่ใช่เดือดร้อน เฉพาะวันศุกร์ แต่เดือดร้อนในทุกวัน ถ้าสภาพของร้านค้าในเขตเทศบาลยังเป็นอยู่อย่างเห็นในขณะนี้

ประเด็นปัญหาที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ที่เกิดจากความไม่พร้อมของ “ท้องถิ่น” เมื่อเกิด “คาร์บอมบ์” รวมทั้งการ “วางเพลิง” จากฝีมือของ “อาร์เคเค” นั้นคือ เทศบาลรอบนอกเกือบทุกเทศบาล ที่ไม่มีความพร้อมในการ “ผจญเพลิง” เช่น “คาร์บอมบ์” ที่สายบุรี กว่าที่รถดับเพลิงจะมาถึงที่เกิดเหตุต้องใช้เวลานานมาก และเมื่อมาถึงก็ยังไม่มีความพร้อมในการดับเพลิง จนแทนที่จะลดความสูญเสียลง กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของบ้านเรือนที่ถูกเพลิงเผาผลาญ

เช่นเดียวกับหลายเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เมื่อมีการวางระเบิด จนเกิดเพลิงไหม้ หรือมีการวางเพลิงเกิดขึ้นจากการกระทำของ “อาร์เคเค” เทศบาล และ อบต. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัย ต่างตกเป็น “จำเลย” ของสังคมมาโดยตลอด เช่น การเกิด “คาร์บอมบ์” ที่บริษัทจำหน่ายคอมพิวเตอร์ กลางเมือง สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่เทศบาลไม่พร้อม ทั้งการดับเพลิง และการช่วยคน เพราะรถกระเช้าเสีย ต้องขอรถกระเช้าจากการไฟฟ้ามาแทน หรือการวางเพลิงโชว์รูมรถยนต์ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่กว่ารถดับเพลิงจะมาถึงที่เกิดเหตุ เพราะการประสานงานที่เป็นปัญหา โชว์รูมก็กลายเป็นทะเลเพลิงไปหมดสิ้นแล้ว

“เข้าใจ เข้าถึง” คือคำพูดที่ หน่วยงานทุกหน่วยในพื้นที่พูดกันแบบ “นกแก้ว นกขุนทอง” และทุกหน่วยก็กล่าวว่าเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่นำมาใช้เพื่อ “ดับไฟใต้” แต่สิ่งที่เกิดขึ้น จากปี 2547 จนถึงวันนี้ ปี 2555 หลายอย่างที่ทำ หลายอย่างที่ปรากฏต่างเป็น “นัยยะ” บอกกับคนในพื้นที่ได้อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานของรัฐ ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ยังไม่ “เข้าใจ และยังไม่เข้าถึง” แต่ต้องการใช้งบประมาณเพื่อการ “พัฒนา” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ยกตัวอย่างขยายความ “ขี้เท่อ” ของหน่วยงานภาครัฐคือ เรื่องการ “หยุดวันศุกร์” ที่มีการนำเอาคำสอนของศาสนาอิสลามว่า ศาสนาไม่ได้ห้ามการทำงานในวันศุกร์มาแจกจ่ายกับคนในพื้นที่ เพื่อให้กลับไปทำงานตามปกติ ซึ่งคนในพื้นที่เขาฝากบอกว่า พวกเขาเป็น “มุสลิม” นับถือศาสนาอิสลาม เกิดมาก็อยู่กับศาสนามาโดยตลอด เขารู้ว่าศาสนาไม่ได้ห้ามหยุดทำงานในวันศุกร์ แต่ที่พวกเขาหยุดงานวันศุกร์ในครั้งนี้ ไม่ใช่เขาไม่รู้เรื่องศาสนา แต่พวกเขากลัวผู้ที่ข่มขู่จะมาทำร้ายเขา
 
ดังนั้นเขาต้องการความปลอดภัย จากเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องการความมั่นใจ เพื่อที่จะได้กลับไปทำมาหากินอย่างปกติ และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความ “เข้าใจ เข้าถึง” ที่สุดท้ายแล้ว ภาครัฐ ยังคง “ล้มเหลว” ชนิด “ล้มแล้วล้มอีก” กับการตอบโจทย์ในการดับไฟใต้นั่นเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น