ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จุฬาราชมนตรีร่อนหนังสือแจง อิสลามไม่ห้ามทำงานวันศุกร์ ชี้พวกข่มขู่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ แอบอ้างศาสนาเพื่อผลประโยชน์ เผยคำขู่กระทบคนรากหญ้า ตลาดนัดย้ายวันกันวุ่น ไม่น่าเชื่อ 7-11 มีวันปิดแล้ว
‘จุฬาฯ’ชี้ขาดทำงานวันศุกร์ ‘ไม่ขัดศาสนา’
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แจ้งว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ส่งหนังสือตอบเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้แจงกรณีการทำงานในวันศุกร์ของมุสลิม เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อมุสลิม และประชาชนทั่วไป หลังจากที่ ศอ.บต.ส่งหนังสือด่วนสอบถามกรณีเกิดกระแสข่มขู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ห้ามประชาชนทำงาน หรือเปิดร้านขายของในวันศุกร์ จนทำให้วันศุกร์ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมาทำงาน ทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่พากันปิดจนแทบกลายเป็นเมืองร้าง
หนังสือดังกล่าวสรุปว่า การทำงานในวันศุกร์มิได้ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลาม เพราะการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพเป็นสิ่งที่อิสลามให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง เนื่องจากการดำรงชีพโดยมุ่งสู่เป้าหมายที่องค์อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดนั้น เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น และสามารถทำหน้าที่เพื่ออัลลอฮ์ได้โดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ใด ผู้ทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง และครอบครัวด้วยอาชีพสุจริตจึงเป็นผู้ประเสริฐ
“เมื่อคนเราต้องบริโภคทุกวัน อิสลามจึงไม่ห้ามที่จะทำงานทุกวัน แม้วันนั้นจะเป็นวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญประจำสัปดาห์ก็ตาม สิ่งที่อิสลามบัญญัติก็คือ บุคคลต้องไม่ให้ความสำคัญแก่การทำงานหารายได้มากกว่าการประกอบพิธีละหมาดญุมอะฮ์ (ละหมาดวันศุกร์) ถวายเป็นอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า” หนังสือดังกล่าวระบุ
จุฬาราชมนตรียังได้ยกพระดำรัสแห่งอัลลอฮ์ ซูรอฮ์ (โองการ) อัลญุมุอะฮ์ อายะฮ์ที่ 9-10 ความว่า “ดูกรผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อเสียงเรียกร้องสู่การละหมาดดังขึ้นในวันศุกร์ พวกเจ้าก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิด และจงยุติการซื้อขายเสีย นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้”
“ครั้นเมื่อการประกอบพิธีละหมาดเสร็จสิ้นลง พวกเจ้าก็จงกระจายไปในแผ่นดินเถิด จงแสวงหาคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ (ทำงานหารายได้) และจงรำลึกถึงพระองค์ให้มาก เพื่อพวกเจ้าจะได้พบกับความสำเร็จ”
หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า ฉะนั้น แม้จะเป็นวันศุกร์แต่อัลลอฮ์ก็ยังส่งเสริมให้ทำงานเพื่อแสวงหาคุณูปการที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้ สิ่งที่ผู้ทำงานทุกคนต้องรำลึกอยู่เสมอก็คือ เมื่อได้ยินเสียงอะซานเรียกร้องสู่การละหมาด งานทุกอย่างต้องยุติลง และบุคคลต้องเตรียมตัวไปละหมาดอย่างรีบเร่ง ครั้นเมื่อละหมาดเสร็จสิ้นแล้วก็รีบไปทำงานต่อ โดยมีจิตรำลึกอยู่เสมอว่าโภคปัจจัยที่ได้มาล้วนเป็นคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ทั้งสิ้น
“ดังนั้น การข่มขู่ให้สุจริตชนหยุดทำงานในวันศุกร์ นับเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เป็นการแอบอ้างศาสนาอิสลามเพื่อผลประโยชน์ของตนอย่างมิชอบ และเป็นการกระทำที่อยู่นอกกรอบแนวทางของอัลลอฮ์อย่างสิ้นเชิง” หนังสือดังกล่าวสรุปในตอนท้าย
ทั้งนี้ ศอ.บต.ได้เตรียมนำเนื้อความในหนังสือของจุฬาราชมนตรีจัดทำเป็นแผ่นพับ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษามลายู แจกจ่ายให้ประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ตลาดนัดย้ายวันกันวุ่นหนีคำขู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากคำขู่ดังกล่าว ได้ส่งผลสะเทือนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะชาวบ้านระดับรากหญ้า เช่น ทำให้มีตลาดนัดหลายแห่งที่เปิดขายในวันศุกร์ได้ย้ายไปเปิดขายในวันอื่น เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดเย็นวันศุกร์ในเขตเทศบาลตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้ตกลงย้ายมาเปิดตลาดนัดในตอนเย็นวันพุธแทน โดยตลาดนัดแห่งนี้อยู่ห่างจากค่ายอิงคยุทธบริหารเพียงไม่กี่ร้อยเมตร
แม่ค้าขายยำบะหมี่แห่งตลาดนัดเทศบาลบ่อทอง ระบุว่า หลังจากมีข่าวลือถึงการข่มขู่ดังกล่าว ทำให้พ่อค้าและแม่ค้าที่นี่ต้องหยุดขายของในศุกร์ติดต่อกันมาแล้ว 2 สัปดาห์ คือวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2555 วันเดียวกับที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2555
“ระหว่างนั้น เจ้าของตลาดนัดกับพ่อค้าแม่ค้าตกลงกันว่าจะเลื่อนตลาดนัดมาเป็นวันพุธ เริ่มขายวันแรกคือวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2555 ซึ่งแน่นอนว่าการเลื่อนวันส่งผลให้ยอดขายลดลงครึ่งต่อครึ่ง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ จึงทำให้มีชาวบ้านมาเดินตลาดกันน้อย” แม่ค้าคนเดิมระบุ
พี่จิน แม่ค้าขายผักชาวไทยพุทธ บอกว่า ไม่รู้ว่าข่าวลือห้ามขายในวันศุกร์มาจากไหน มีการพูดกันปากต่อปากจนทำให้ทั้งลูกค้า และแม่ค้าพ่อค้ากลัวกันไปหมด “ปกติในวันศุกร์จะประชาชนมาซื้อข้าวของกันมาก แต่พอย้ายวันคนก็ออกมาซื้อของกันน้อย เพราะส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ว่าตลาดนัดย้ายมาเป็นวันพุธ ผลให้ยอดค้าของดิฉันลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะพืชผักที่ดิฉันปลูก ผลิตออกมาไม่ทันตลาดนัดวันพุธ แต่ถ้าเป็นวันศุกร์ผลผลิตจะออกมาทันพอดี แต่ถ้าจะเก็บไว้ขายในวันพุธหน้าก็ไม่ทัน พืชผักเสียหายหมด” พี่จินกล่าว
ส่วนกะเยาะห์ แม่ค้าผลไม้เล่าว่า เมื่อมีการข่มขู่ให้หยุดการค้าขายในวันศุกร์ เมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ สัปดาห์แรกเมื่อวันศุกร์ ที่ 14 กันยายน 2555 “พอมาถึงสัปดาห์ที่ 2 ตนยังมาทำการค้าขายในตลาดนัดในวันศุกร์ตามปกติ และเมื่อกลับบ้านดูข่าวเกิดเหตุการณ์ยิงร้านทอง และระเบิดคาร์บอมบ์สายบุรี และได้ยินข่าวมาว่าที่เกิดระเบิดนั้นเพราะว่าพ่อค้าแม่ค้ามีการค้าขายในวันศุกร์ ”
กะเยาะห์กล่าวอีกว่า จนทำให้เมื่อวันศุกร์ ที่ 27 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ไม่มีแม่ค้าและพ่อค้ามาค้าขายในตลาดนัดนี้แม้แต่คนเดียว ที่พ่อค้าแม่ค้าไม่มาขายในตลาดในศุกร์ เพราะรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยหากมาค้าขายวันศุกร์ ผลกระทบจากการเลื่อนวันศุกร์มาเป็นวันพุธ ทำให้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของตนลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้การค้าขายลดลงประมาณครึ่งต่อครึ่ง
ทั้งนี้ ในเขตเทศบาลตำบลบ่อทอง ยังมีตลาดนัดอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากกำแพงค่ายอิงคยุทธบริหารเพียงแค่ข้ามฝั่งถนน ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเป็นตลาดนัดเช้าวันศุกร์ แล้วย้ายมาเป็นตลาดนัดเช้าวันพฤหัส หลังจากมีการข่มขู่ให้หยุดทำงาน หรือหยุดค้าขายในวันศุกร์กระจายไปทั่วทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางส่วนของจังหวัดสงขลา มิฉะนั้นจะถูกตัดหู เช่นเดียวกับคำขู่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
เซเว่น-อีเลฟเว่นมีวันปิดแล้ว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) หลายสาขาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ติดป้ายประกาศหยุดขายวันศุกร์ด้วย เนื่องจากเกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัย ในขณะที่บางสาขาได้ประกาศปิดร้านในช่วงเวลาละหมาดวันศุกร์
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
‘จุฬาฯ’ชี้ขาดทำงานวันศุกร์ ‘ไม่ขัดศาสนา’
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แจ้งว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ส่งหนังสือตอบเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้แจงกรณีการทำงานในวันศุกร์ของมุสลิม เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อมุสลิม และประชาชนทั่วไป หลังจากที่ ศอ.บต.ส่งหนังสือด่วนสอบถามกรณีเกิดกระแสข่มขู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ห้ามประชาชนทำงาน หรือเปิดร้านขายของในวันศุกร์ จนทำให้วันศุกร์ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมาทำงาน ทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่พากันปิดจนแทบกลายเป็นเมืองร้าง
หนังสือดังกล่าวสรุปว่า การทำงานในวันศุกร์มิได้ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลาม เพราะการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพเป็นสิ่งที่อิสลามให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง เนื่องจากการดำรงชีพโดยมุ่งสู่เป้าหมายที่องค์อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดนั้น เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น และสามารถทำหน้าที่เพื่ออัลลอฮ์ได้โดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ใด ผู้ทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง และครอบครัวด้วยอาชีพสุจริตจึงเป็นผู้ประเสริฐ
“เมื่อคนเราต้องบริโภคทุกวัน อิสลามจึงไม่ห้ามที่จะทำงานทุกวัน แม้วันนั้นจะเป็นวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญประจำสัปดาห์ก็ตาม สิ่งที่อิสลามบัญญัติก็คือ บุคคลต้องไม่ให้ความสำคัญแก่การทำงานหารายได้มากกว่าการประกอบพิธีละหมาดญุมอะฮ์ (ละหมาดวันศุกร์) ถวายเป็นอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า” หนังสือดังกล่าวระบุ
จุฬาราชมนตรียังได้ยกพระดำรัสแห่งอัลลอฮ์ ซูรอฮ์ (โองการ) อัลญุมุอะฮ์ อายะฮ์ที่ 9-10 ความว่า “ดูกรผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อเสียงเรียกร้องสู่การละหมาดดังขึ้นในวันศุกร์ พวกเจ้าก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิด และจงยุติการซื้อขายเสีย นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้”
“ครั้นเมื่อการประกอบพิธีละหมาดเสร็จสิ้นลง พวกเจ้าก็จงกระจายไปในแผ่นดินเถิด จงแสวงหาคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ (ทำงานหารายได้) และจงรำลึกถึงพระองค์ให้มาก เพื่อพวกเจ้าจะได้พบกับความสำเร็จ”
หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า ฉะนั้น แม้จะเป็นวันศุกร์แต่อัลลอฮ์ก็ยังส่งเสริมให้ทำงานเพื่อแสวงหาคุณูปการที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้ สิ่งที่ผู้ทำงานทุกคนต้องรำลึกอยู่เสมอก็คือ เมื่อได้ยินเสียงอะซานเรียกร้องสู่การละหมาด งานทุกอย่างต้องยุติลง และบุคคลต้องเตรียมตัวไปละหมาดอย่างรีบเร่ง ครั้นเมื่อละหมาดเสร็จสิ้นแล้วก็รีบไปทำงานต่อ โดยมีจิตรำลึกอยู่เสมอว่าโภคปัจจัยที่ได้มาล้วนเป็นคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ทั้งสิ้น
“ดังนั้น การข่มขู่ให้สุจริตชนหยุดทำงานในวันศุกร์ นับเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เป็นการแอบอ้างศาสนาอิสลามเพื่อผลประโยชน์ของตนอย่างมิชอบ และเป็นการกระทำที่อยู่นอกกรอบแนวทางของอัลลอฮ์อย่างสิ้นเชิง” หนังสือดังกล่าวสรุปในตอนท้าย
ทั้งนี้ ศอ.บต.ได้เตรียมนำเนื้อความในหนังสือของจุฬาราชมนตรีจัดทำเป็นแผ่นพับ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษามลายู แจกจ่ายให้ประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ตลาดนัดย้ายวันกันวุ่นหนีคำขู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากคำขู่ดังกล่าว ได้ส่งผลสะเทือนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะชาวบ้านระดับรากหญ้า เช่น ทำให้มีตลาดนัดหลายแห่งที่เปิดขายในวันศุกร์ได้ย้ายไปเปิดขายในวันอื่น เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดเย็นวันศุกร์ในเขตเทศบาลตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้ตกลงย้ายมาเปิดตลาดนัดในตอนเย็นวันพุธแทน โดยตลาดนัดแห่งนี้อยู่ห่างจากค่ายอิงคยุทธบริหารเพียงไม่กี่ร้อยเมตร
แม่ค้าขายยำบะหมี่แห่งตลาดนัดเทศบาลบ่อทอง ระบุว่า หลังจากมีข่าวลือถึงการข่มขู่ดังกล่าว ทำให้พ่อค้าและแม่ค้าที่นี่ต้องหยุดขายของในศุกร์ติดต่อกันมาแล้ว 2 สัปดาห์ คือวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2555 วันเดียวกับที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2555
“ระหว่างนั้น เจ้าของตลาดนัดกับพ่อค้าแม่ค้าตกลงกันว่าจะเลื่อนตลาดนัดมาเป็นวันพุธ เริ่มขายวันแรกคือวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2555 ซึ่งแน่นอนว่าการเลื่อนวันส่งผลให้ยอดขายลดลงครึ่งต่อครึ่ง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ จึงทำให้มีชาวบ้านมาเดินตลาดกันน้อย” แม่ค้าคนเดิมระบุ
พี่จิน แม่ค้าขายผักชาวไทยพุทธ บอกว่า ไม่รู้ว่าข่าวลือห้ามขายในวันศุกร์มาจากไหน มีการพูดกันปากต่อปากจนทำให้ทั้งลูกค้า และแม่ค้าพ่อค้ากลัวกันไปหมด “ปกติในวันศุกร์จะประชาชนมาซื้อข้าวของกันมาก แต่พอย้ายวันคนก็ออกมาซื้อของกันน้อย เพราะส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ว่าตลาดนัดย้ายมาเป็นวันพุธ ผลให้ยอดค้าของดิฉันลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะพืชผักที่ดิฉันปลูก ผลิตออกมาไม่ทันตลาดนัดวันพุธ แต่ถ้าเป็นวันศุกร์ผลผลิตจะออกมาทันพอดี แต่ถ้าจะเก็บไว้ขายในวันพุธหน้าก็ไม่ทัน พืชผักเสียหายหมด” พี่จินกล่าว
ส่วนกะเยาะห์ แม่ค้าผลไม้เล่าว่า เมื่อมีการข่มขู่ให้หยุดการค้าขายในวันศุกร์ เมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ สัปดาห์แรกเมื่อวันศุกร์ ที่ 14 กันยายน 2555 “พอมาถึงสัปดาห์ที่ 2 ตนยังมาทำการค้าขายในตลาดนัดในวันศุกร์ตามปกติ และเมื่อกลับบ้านดูข่าวเกิดเหตุการณ์ยิงร้านทอง และระเบิดคาร์บอมบ์สายบุรี และได้ยินข่าวมาว่าที่เกิดระเบิดนั้นเพราะว่าพ่อค้าแม่ค้ามีการค้าขายในวันศุกร์ ”
กะเยาะห์กล่าวอีกว่า จนทำให้เมื่อวันศุกร์ ที่ 27 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ไม่มีแม่ค้าและพ่อค้ามาค้าขายในตลาดนัดนี้แม้แต่คนเดียว ที่พ่อค้าแม่ค้าไม่มาขายในตลาดในศุกร์ เพราะรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยหากมาค้าขายวันศุกร์ ผลกระทบจากการเลื่อนวันศุกร์มาเป็นวันพุธ ทำให้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของตนลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้การค้าขายลดลงประมาณครึ่งต่อครึ่ง
ทั้งนี้ ในเขตเทศบาลตำบลบ่อทอง ยังมีตลาดนัดอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากกำแพงค่ายอิงคยุทธบริหารเพียงแค่ข้ามฝั่งถนน ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเป็นตลาดนัดเช้าวันศุกร์ แล้วย้ายมาเป็นตลาดนัดเช้าวันพฤหัส หลังจากมีการข่มขู่ให้หยุดทำงาน หรือหยุดค้าขายในวันศุกร์กระจายไปทั่วทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางส่วนของจังหวัดสงขลา มิฉะนั้นจะถูกตัดหู เช่นเดียวกับคำขู่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
เซเว่น-อีเลฟเว่นมีวันปิดแล้ว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) หลายสาขาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ติดป้ายประกาศหยุดขายวันศุกร์ด้วย เนื่องจากเกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัย ในขณะที่บางสาขาได้ประกาศปิดร้านในช่วงเวลาละหมาดวันศุกร์
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)