ตรัง - วัดท่าพญา แชมป์เก่าเรือพระเมื่อปี 2554 และอีกเกือบ 70 วัดในจังหวัดตรัง ต่างเร่งมือจัดทำเรือพระให้สมบูรณ์แบบมากที่สุด เพื่อนำเข้าร่วมประเพณีลากพระหลังวันออกพรรษาของปีนี้
วัดท่าพญา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งเข้าร่วมประเพณีลากพระ หรือชักพระ มาอย่างยาวนาน จนถือเป็นวัดต้นแบบของจังหวัดตรังที่ชุมชนต่างๆ จะต้องต้องเดินทางมาศึกษาหาความรู้สำหรับการตกแต่งเรือพระให้ออกมาอย่างสวยงามตระการตา แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แบบไทยๆ นับตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทำให้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้วหลายปี โดยเฉพาะในปีล่าสุด ประเภทเรือพระขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้ผู้คนในชุมชนท่าพญาต่างเร่งมือตกแต่งเรือพระขั้นตอนสุดท้าย เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ อีกเกือบ 70 วัดในจังหวัดตรัง เพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด แม้จะลงมือทำต่อเนื่องกันมาก่อนหน้านี้ถึง 3 เดือนแล้วก็ตาม
นายนิรัตน์ รัตนสุรการย์ นายก อบต.ท่าพญา กล่าวว่า การตกแต่งเรือพระในแต่ละปี นอกจากจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานแล้ว ยังต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากนับหลายแสนบาท แม้ อบต.จะสนับสนุนงบประมาณให้ปีละ 2 แสนบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะต้นทุนค่าวัสดุอุปกรณ์ โดยเฉพาะไม้ และสีที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการตกแต่งไฟประดับเรือพระ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวของภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ และความศรัทธาของชาวชุมชนท่าพญา จึงสามารถจัดทำเรือพระให้ออกมาสวยงามได้ในทุกๆ ปี โดยหากรวมงบประมาณในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ได้ใช้เงินเพื่อตกแต่งเรือพระไปแล้วนับ 10 ล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับรูปแบบของเรือพระในปีนี้ ยังคงเอกลักษณ์ส่วนใหญ่ไว้ แต่ก็มีปรับปรุงเพิ่มเติมบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวชุมชนท่าพญามากที่สุด มิใช่เป็นเรื่องของเงินรางวัลชนะเลิศที่ได้รับ แต่กลับเป็นเรื่องของความรัก ความสามัคคีของผู้คนมากกว่า เพราะแม้ฝนจะตก แดดจะออก แต่ทุกคนก็มาร่วมกิจกรรมด้วยความสนุกสนานโดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะทุกอย่างเป็นการเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่เรียกร้องเงินทองใดๆ ทั้งสิ้นโดยเฉพาะช่างที่เสียสละเวลามาตกแต่งเรือพระกันนานหลายเดือน แถมยังเป็นฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นล้วนๆ 100%
ขณะที่ นายชวลิต ชยุตพงศ์พันธุ์ ครู ร.ร.บ้านสามแยก และ นายสุธรรม กังแฮ สมาชิกสภา อบต.ท่าพญา หมู่ที่ 4 สองหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของช่างตกแต่งเรือพระวัดท่าพญา กล่าวว่า ก่อนทุกอย่างจะออกมาสวยงามได้ต้องช่วยกันทำงานกันอย่างหนัก เพื่อสร้างจุดเด่นของเรือพระ โดยเฉพาะงานศิลปะฝีมือที่เริ่มหายไป และกลายมาเป็นงานศิลปะประยุกต์อย่างเรซินมากขึ้น ทำให้หลายวัดมีลักษณะเรือพระที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะทำให้ความงดงามแบบไทยๆ แบบขนานแท้หายไป ตนจึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาสนใจในจุดนี้ ขณะที่คณะกรรมตัดสินการประกวด ก็อยากได้มืออาชีพจากกรุงเทพฯ เพื่อให้ทุกอย่างมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น
ทั้งนี้ การลากพระ หรือชักพระถือเป็นประเพณีสำคัญยิ่ง อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ และสืบทอดกันมายาวนานแล้ว ซึ่งสำหรับจังหวัดตรังก็ยังคงมีความโดดเด่นไม่แพ้แห่งใด เนื่องจากมีการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ อย่างเหนียวแน่น และมีการจัดทำเรือพระเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากถึงปีละเกือบ 70 ลำ แล้วในวันนี้ที่สำคัญก็คือ สามารถรวมผู้คนทั้งจังหวัดตรังให้มาอยู่ ณ จุดเดียวกันได้นับแสนๆ คนเลยทีเดียว ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือ 15 ค่ำเดือน 11 โดยในปี 2555 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 31 ตุลาคม ณ บริเวณสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 ทุ่งแจ้ง