xs
xsm
sm
md
lg

“มนัส รองพล” หนุ่มลูกทุ่งนักพัฒนายกฐานะ อบต.นาวง เป็นเทศบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เส้นทางกว่าจะมาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาวง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ของ “มนัส รองพล” วัย 56 ปี ณ วันนี้ เป็นไปทั้งด้วยความยากลำบาก และความพลิกผัน และพร้อมที่จะเปิดเผยประสบการณ์ชีวิตด้วยเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบให้สื่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้ถ่ายทอดเป้าหมายการทำงานท้องถิ่นที่ต่างจากอาชีพอื่น เพราะต้องเป็นนักพัฒนาตัวจริงถึงจะอยู่ได้

นายมนัส รองพล เล่าว่า แม้สายเลือดการเป็นผู้นำท้องถิ่นของของเขาจะได้รับการถ่ายทอดสืบต่อมาจากคุณพ่อ คือ “วิเชียร รองพล” กำนันตำบลห้วยยอด แต่แรกเริ่มเดิมทีความตั้งใจของเขากลับมุ่งมั่นไปในหน้าที่รับราชการมากกว่าในตำแหน่งช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 6 สังกัดองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
ภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นคู่ขนานกับชุมชน
แต่แล้วก็เกิดความพลิกผัน เมื่อจู่ๆ คุณพ่อก็ล้มป่วยลง เขาจึงจำต้องจากครอบครัวกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดตรัง เมื่อปี 2549 และท้ายสุดก็ได้ตัดสินเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เมื่อปี 2551 หวังจะใช้ชีวิตด้วยทำธุรกิจส่วนตัว แต่จังหวะนั้นตำแหน่งนายก อบต.นาวง คนเดิมหมดวาระลงพอดี เขาถึงถูกคะนั้นคะยอให้ลงสมัครชิงตำแหน่ง ท่ามกลางเสียงสนับสนุนมากมาย รวมทั้งภรรยา และลูกๆ ทั้ง 3 คน และน้องชาย “บัณฑิต รองพล” กำนันตำบลนาวง และกำนันแหนบทองคำ ประจำปี 2555 ที่ครองตำแหน่งสืบต่อจากคุณพ่อ ซึ่งปรากฎว่า เขาสามารถล้มแชมป์เก่าไปด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างถึง 400 กว่าเสียง ขึ้นนั่งเก้าอี้นายก อบต.นาวง สมัยแรก เมื่อปี 2552

เขาบอกว่า “ตำบลนาวง” เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนถือได้ว่าเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง โดยมีประชากร 4,969 คน กระจายอยู่ใน 11 หมู่บ้าน แต่มีอยู่ 4 หมู่บ้าน ที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลนาวง ด้วยซึ่งจากลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนใหญ่จึงนิยมทำสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีจุดเด่นตรงที่มีการคมนาคมใช้การได้ทุกฤดูกาล เนื่องจากในพื้นที่มีหินผุบริเวณภูเขาที่นำมาก่อสร้างถนนได้สะดวก และยังมีของดีของดังอยู่จำนวนหลายกลุ่มด้วย

ที่ผ่านมา เขาได้พยายามพัฒนาตำบลให้ครบทุกๆ ด้าน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้าง หรือประบปรุงถนน โดยเฉพาะสายสี่แยกลานช้าง-เทศบาลตำบลนาวง รวมทั้งการขยายเขตไฟฟ้า หรือปรับปรุงระบบประปา ขณะที่ด้านการศึกษาได้จัดทำโครงการสานฝันบัณฑิตน้อย และปรับปรุงภูมิทัศน์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่วนด้านท่องเที่ยว ได้ร่วมมือกับกรมศิลปากร เพื่อส่งเสริมให้ถ้ำเขาโพธิ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สำหรับด้านการบริหารจัดการ ก็ได้ทำควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะโครงการสร้างรอยยิ้มให้ประชาชน

เป้าหมายสำคัญของ “ตำบลนาวง” ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เขาบอกว่า ต้องการให้ชาวนาวงอยู่ดี กินดี มีคุณธรรม โดยมีการคมนาคมสะดวก หรือมีระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการทั่วถึง และเพียงพอ ประชาชนดำรงชีวิตภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมส่งเสริมการศึกษา อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ขณะที่การบริหารจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร่วมกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว

อีกทั้งยังต้องการให้ประชาชนทุกคนมีจิตสำนึก เฝ้าระวัง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติถึง 8 แห่ง ควบคู่ไปกับการจัดระบบบำบัดน้ำเสีย และขยะ พร้อมทั้งยังเห็นควรปรับปรุงเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะถ้ำเขาโพธิ์โทน ซึ่งเป็น 1 ใน 20 แหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดตรัง และเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มรายได้จากกลุ่ม OTOP ที่มีชื่ออยู่แล้วหลายแห่ง ทั้งกลุ่มทอผ้าบ้านไสบ่อ หมู่ที่ 2 กลุ่มทำเครื่องแกง หมู่ที่ 1 และกลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ หมู่ที่ 7 เพื่อรองรับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลในเร็วๆ นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น