xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศึก อบจ.ปลายด้ามขวาน ปชป.ตามขยี้ถึงท้องถิ่นหวังสกัด “หมู่บ้านเสื้อแดง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ไม้ เมืองขม

พลันที่ กกต.จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันหย่อนบัตรเลือกตั้งนายกฯ และสมาชิกองค์การบริหารจังหวัด เหล่านักการเมืองท้องถิ่นซึ่งเปิดตัวพบปะกับประชาชนก่อนหน้านั้นนานแรมเดือน ก็มีการโหมการเข้าถึงชาวบ้านเพื่อขอคะแนนเสียงในการที่จะก้าวไปยังเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และตำแหน่ง ส.อบจ. หรือ (ส.จ.) อย่างเต็มที่ ชนิดที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่นในครั้งนี้แต่อย่างใด เนื่องจากผู้สมัครทุกทีมทุกคนต่างเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งรู้จักคน รู้จักพื้นที่ และรู้ปัญหาเป็นอย่างดี
นายเศรษฐ อัลยุฟรีย์ อดีตนายก 3 สมัย
เริ่มที่ จ.นราธิวาส แผ่นดินปลายด้ามขวานที่การเลือกตั้งครั้งนี้ กูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายกฯ 2 สมัย เจ้าของตำแหน่งต้องเรียกหัวคะแนนผู้สนับสนุนเข้าไปพบที่บ้านอย่างเคร่งเครียด และคึกคักด้วยท่าทีการตั้งการ์ดอย่างรัดกุม เพื่อรักษาเก้าอี้นายก อบจ.สมัยที่ 3 ให้ได้ เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ธรรมดาเหมือนเมื่อครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากครั้งนี้คู่แข่งที่ลงชิงชัยเพื่อแย่งเก้าอี้นายก อบจ.นราธิวาส มีด้วยกันถึง 2 คน

คนแรกคือ อารีเพ็ญ อุตรสินธ์ อดีต ส.ส. หลายสมัยของ จ.นราธิวาส ที่ประกาศตัวลงสู้ศึกด้วยการชูนโยบายไม่เอาผู้รับเหมามาเป็นนายก อบจ. และชูวิสัยทัศน์ที่จะนำ จ.นราธิวาส สู่ประชาคมอาเซียน ก็ทำให้ “สีสัน” ในการแข่งขันครั้งนี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง สำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนนายอารีเพ็ญ คือ กลุ่มผู้นำศาสนากลุ่ม “วาห์ดะ” และนักการเมืองท้องถิ่นที่เคยสนับสนุนให้เป็น ส.ส.ในอดีต

ส่วนผู้สมัครคนที่ 2 ที่สร้างอาการหนาวๆ ร้อนๆ ให้แก่ กูเซ็ง ยาวอหะซัน คือ สุมิตร มะสา และหนุ่มใหญ่นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แม้จะไม่มีประสบการณ์ในทางการเมืองมาก่อน แต่อาศัยที่มี “ทุน” อันหนาแน่นปูทางไปสู่หัวคะแนนในทุกพื้นที่ และได้รับการตอบรับจากผู้กว้างขวางทางการเมือง โดยเฉพาะได้รับการโอบอุ้มจากพรรคประชาธิปัตย์ส่งเข้าประกวด มีทั้ง “หล่อใหญ่” อย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นเวทีหาเสียงจนกลายเป็น “ม้ามืด” ในสนามแข่งของ อบจ.นราธิวาส

ส่วนสนามการแข่งขันที่ จ.ปัตตานี ยิ่งไม่ธรรมดา แม้จะมีผู้สมัครในตำแหน่งนายก อบจ.เพียง 2 คน หมายเลข 1 คือ มะหามะ มะเด็ง อดีตนายก อบต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งนับเป็นนักการเมืองที่กว้างขวาง และมีชื่อเสียง เป็นหัวคะแนนใหญ่ให้แก่นักการเมืองระดับชาติ ได้เป็น “ผู้แทน” มาแล้วหลายราย และในการลงรับสมัครครั้งนี้อยู่ภายใต้ สีเสื้อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และอดีต มท.3 ให้การโอมอุ้มอย่างเต็มพิกัด มีทั้ง อภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ และชวน หลีกภัย เดินสายปราศรัยสนับสนุนอย่างเต็มที่เต็มถัง

ส่วนหมายเลข 2 คือ เศรษฐ์ อัลยุฟรีย์ อดีตนายก 3 สมัย นักการเมืองหนุ่มใหญ่ที่วางอนาคตไว้ที่การเป็น ส.ส.จ.ปัตตานี หัวหน้าทีมปัตตานีสันติสุข ที่การลงรักษาแชมป์ในครั้งนี้ไม่ค่อยมีความ “สันติสุข” เหมือนทุกครั้ง เพราะมาเจอคู่แข่งที่มีพรรคการเมืองใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ให้การสนันสนุน แม้ว่าการออกสตาร์ทจะนำอยู่ 2 ช่วงตัว แต่ถ้าเจอ “กลยุทธ์” ของ ปชป.ในหลายรูปแบบ เศรษฐ์ อัลยุฟรีย์ ก็มีโอกาสของอาการ “หืดจับ” ได้เช่นเดียวกัน
นายมะหามะ มะเด็ง อดีตนายก อบต.นาเกตุ
เพื่อความไม่ประมาท เศรษฐ อัลยุฟรีย์ จึงต้องเชื้อเชิญ เบญจวรรณ ซูสารอ ภรรยาของ อนุมัติ ซูสารอ หรือกำนันมะ ส.ส.ปัตตานี พรรคมาตุภูมิเป็นรองนายก เพื่อหวังคะแนนเสียงของ ส.ส.มะ หรืออนุมัติเป็นการกันเหนียว รวมทั้งให้อรุญ เบญจลักษณ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.ปัตตานี เป็นรองนายกคนที่ 2 โดยหวังพึ่งฐานคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคในการคว่ำคู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ให้อยู่หมัด ดังนั้น สนามเลือกตั้ง อบจ.ปัตตานี ครั้งนี้ จึงเป็นการแข่งขันที่ดุเด็ดยิ่งกว่าการแข่งขันทุกครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งในการแข่งขันของการเมืองระดับท้องถิ่นต่อแต่นี้ไป ต้องจับตามองการก้าวย่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้ยุทธศาสตร์การยึดครองสนามการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ตลอดจนสนามการเมืองระดับเทศบาลต่างๆ จนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. เพื่อต่อสู้กับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนตั้งหมู่บ้าน “เสื้อแดง” ของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น นับแต่นี้ไปสนามการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับนายทุน นักการเมืองเจ้าถิ่น ทั้งที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง และสังกัดพรรคการเมือง

และสุดท้าย สิ่งที่ กกต. และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องร่วมกันจับตามอง และติดตามการเลือกตั้งใน 2 จังหวัดในครั้งนี้อย่างใกล้ชิดคือ จะต้องมีการใช้อิทธิพลให้กระสุนดินดำ และกระสุนทองแดง เข้าห้ำหั่นกันในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ชนิดที่ม่านสีม่วงจะแพร่สะพัดไปทั่วก่อนคืน “หมาหอน” ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องทำหน้าที่ด้วยความ “เป็นกลาง” และไม่เป็น “เต่า” ในกระดองกับการใช้อิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และไม่มีการเสียเลือดเสียชีวิตเกิดขึ้นจากศึก “ชนช้าง” ในสนามการเมืองแผ่นดินปลายด้ามขวาน

กำลังโหลดความคิดเห็น