xs
xsm
sm
md
lg

นายก อบจ.ภูเก็ตชู 8 นโยบายพัฒนามืองภูเก็ตเน้นท่องเที่ยว-คุณภาพชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นายก อบจ.ภูเก็ต ชู 8 นโยบายพัฒนาภูเก็ต เน้นด้านการท่องเที่ยว และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตแถลงนโยบายต่อสภา
วันนี้ (3 ต.ค.) ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) ได้มีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สมัยวิสามัญ ประจำปี 2555 สมัยที่ 1 เพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตแถลงนโยบายการทำงาน โดยมีนายประดิษฐ์ แสงจันทร์ ประธานสภา อบจ.ภูเก็ต เป็นประธานการประชุม และมีสมาชิกสภาฯ เข้าร่วมการประชุมทั้ง 24 เขตเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมี นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต คณะผู้บริหาร อบจ.ภูเก็ต นายมานพ ลีลาสุธานนท์ ปลัด อบจ.ภูเก็ต หัวหน้าส่วน ข้าราชการพนักงาน อบจ.ภูเก็ต และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วม

โดยนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตว่า จากประสบการณ์การบริหารงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองน่าอยู่ คู่คุณธรรม จึงได้กำหนดนโยบายการทำงานไว้ 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.นโยบายด้านการบริหาร การเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้ให้คำมั่นว่าจะบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ตามแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจจากข้าราชการ พนักงานลูกจ้างของ อบจ.ภูเก็ต จนทำให้องค์การแห่งนี้เปลี่ยนมาสู่ อบจ.แห่งการให้บริการ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสนองความเป็นเมืองน่าอยู่คู่คุณธรรม เปลี่ยนมาสู่การบูรณาการภารกิจร่วมกันที่คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นตัวตั้ง

โดยมีทุกส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหาในการวางแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ตอย่างมีเอกภาพ และเป็นระบบ เปลี่ยนมาสู่ความความโปร่งใส-มั่นใจได้ โดยประชาชนได้มีส่วนร่วม และตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร/สมาชิกสภาฯ โดยประการสำคัญ เปลี่ยนมาสู่ “หลักคุณธรรม” ในการบริหารบุคลากรขององค์กร ดังนั้น นโยบายที่จะดำเนินการต่อไปก็จะยังยึดมั่นแนวทางดังกล่าว พร้อมกับพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

2.นโยบายการสาธารณสุข ซึ่งคำว่า “เมืองน่าอยู่” สอดคล้องกับคำว่า “Healthy Cites” ขององค์การอนามัยโลก แปลว่า เมืองสุขภาพ หรือเมืองสุขภาพดี โดยมีระบบดูแลสภาวะสุขภาพประชาชนในระดับที่ดี และมีระบบบริการดูแลความเจ็บป่วยที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทุกคน จึงมีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ตให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน โดยเน้นให้บริการสาธารณสุขแบบองค์รวม ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ

3.นโยบายด้านการศึกษา ให้ประชาชนมีความเสมอภาคกันทางด้านการศึกษา ได้รับการพัฒนาความรู้ และศักยภาพของตนเองให้สามารถอยู่ได้ในสังคมฐานความรู้ที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ทั้งการศึกษาในระดับจังหวัดและการศึกษาของ อบจ.ภูเก็ต

4.นโยบายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ด้วยจังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงในระดับโลก มีแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยวมากมาย ในแต่ละปีสามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเกินขีดความสามารถในการรองรับ ขาดการทำนุบำรุงรักษา ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวมีสภาพเสื่อมโทรม ประกอบกับ ในปี พ.ศ.2558 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการเปิดเสรีทางการค้าเต็มรูปแบบ ดังนั้น เพื่อรักษาสถานภาพความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล และคงไว้ซึ่งส่วนแบ่งตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เช่น สนับสนุนการพัฒนา ฟื้นฟูบูรณะแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากล เชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของจังหวัด สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่นักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของ Life Guard ส่งเสริมการตลาดเชิงรุกทั้งใน และต่างประเทศเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เป็นต้น

5.นโยบายด้านคุณภาพชีวิต เพื่อการก้าวเข้าสู่สังคมแห่งคุณภาพ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างให้เกิดความเสมอภาคในสังคม เกิดความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้รับการจรรโลง และหล่อหลอมจิตใจด้วยศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการสังคมทั่วถึงเท่าเทียมกัน

6.นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจังหวัดภูเก็ต ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการทั้งมิติการแก้ปัญหา และการวางแผนพัฒนาเพื่อรองรับการพัฒนาและแก้ปัญหาในอนาคต ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น พัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน

7.นโยบายด้านพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการพัฒนาให้ประชาชน บุคลากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ ความเข้าใจในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อความรวดเร็วในการเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นประโยชน์ในการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และแนวทางการพัฒนา ตลอดจนการแก้ปัญหาในอนาคต

และ 8.นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง การใส่ใจ ฟื้นฟูดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่า จึงเป็นสิ่งที่มิอาจละเลยได้อีกต่อไป ทั้งการอนุรักษ์ และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องกันและบำบัดมลพิษสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงการรักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น