xs
xsm
sm
md
lg

‘ดอยอ่างขาง’ ต้นแบบจัดการขยะบนที่สูง ย่อยสลายด้วยวิธีธรรมชาติ+รีไซเคิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความสวยงามบนดอยอ่างขาง
โดย....ภาวิณี เทพคำราม

ปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านขยะมูลฝอย นับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่หลายพื้นที่กำลังต้องการการแก้ไขอย่างเหมาะสม เนื่องจากปริมาณขยะที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว หากละเลยปล่อยปละไม่ดูแล ก็อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสื่อมโทรมและหมดเสน่ห์ได้

เช่นเดียวกับ “พื้นที่ดอยอ่างขาง” แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2542 ถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งแต่ละปีมีนักทองเที่ยวประมาณ 200,000-300,000 คน จึงก่อให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยตามมา ทั้งยังพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีปริมาณถึง 2-8 ตันต่อวัน

จากเดิมพื้นที่บนดอยอ่างขางใช้วิธีกำจัดโดยใช้วิธีเทกองตามหุบเขา ซึ่งเป็นการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี “นายรังสรรค์ ปิ่นทอง” ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นที่สูงและเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ

“เมื่อปี 2542 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) ร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยช่วงต้นของการดำเนินการ คพ.ได้จัดหางบประมาณและร่วมกับ วท.ทำการศึกษาและออกแบบรายละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่อ่างขางที่เป็นรูปแบบที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถนำรูปแบบที่ได้จากผลการศึกษาไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันต่อไป”

จากผลการศึกษาได้กำหนดแนวทางในการจัดการขยะมูลฝอย ให้ครอบคลุมสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และหมู่บ้านโดยรอบ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านปางม้า บ้านขอบด้ง และบ้านนอแล โดยจัดทำรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลบนพื้นที่สูง เน้นวิธีจัดการแบบผสมผสาน ใช้แนวทางการลดปริมาณของเสียจากแหล่งกำเนิด และนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ภายใต้ “โครงการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชนขนาดเล็กบนพื้นที่สูง (พื้นที่โครงการหลวงอ่างขาง)”

“ภูริพงษ์ ก๋าวิชัย” นักวิชาการดูแลจัดการขยะของสถานีเกษตรหลวง เล่าถึงโครงการ ว่า ได้มุ่งเน้น และให้ความสำคัญการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Resource Conservation and Recovery) ซึ่งแนวทางจัดการขยะมูลฝอยได้มีการคัดแยกนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ แยกขยะอินทรีย์มาหมักทำปุ๋ย ในส่วนขยะที่เหลือชิ้นสุดท้ายนำไปกำจัดร่วมกับเทศบาลตำบลฝาง โดยใช้วิธีการฝังกลบ

“จากเดิมที่มีการกำจัดขยะมูลฝอยปริมาณ 2-8 ตันต่อวัน ด้วยการเทกลางหุบเขา แต่เนื่องจากหลายฝ่ายได้เล็งเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่อ่างขางอยู่ที่สูงและเป็นแหล่งต้นน้ำ จึงได้พัฒนามาเป็นโรงแยกขยะ และการนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งขยะมีประโยชน์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ขยะแห้งที่สามารถสร้างรายได้ โดยนำไปขายเพื่อไปรีไซเคิลต่อไป เช่น กล่องกระดาษ แก้ว พลาสติก และขยะเปียก ที่สามารถนำมาทำปุ๋ยหมัก โดยแยกเป็นผัก ผลไม้และเปลือกไข่ เป็นต้น”

นอกจากนั้น พื้นที่สถานีเกษตรหลวง ยังมีการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยวิธีธรรมชาติ โดยริเริ่มตั้งแต่ปี 2517 และได้พัฒนาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ หมูหลุม แพะ และเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยน้ำ ซึ่งผลผลิตที่ได้จากมูลไส้เดือนยังสามารถทำรายได้ให้กับชาวเขาในพื้นที่อีกด้วย และในปัจจุบันมีโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือน 3 โรงเรือน ซึ่งสามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ถึงวันละ 3 ตัน ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับจากพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก

“ขยะเหล่านี้จะเน่าเสียได้ง่าย ย่อยสลายง่าย เพราะมีจุลินทรีย์ต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวการย่อยสลายสารอินทรีย์ ทั้งยังมีน้ำ และความชื้นของขยะสูงเป็นตัวช่วยเร่งการย่อยสลายที่ดี และจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ตามธรรมชาตินี้เอง จึงเป็นแนวทางที่นำมาใช้ เพราะเป็นระบบที่ประหยัด สะดวก และง่ายต่อการดำเนินการและบำรุงดูแลรักษา จากนั้นได้มีการก่อสร้างศูนย์คัดแยกขยะมูลฝอย และโรงหมักทำปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ ส่วนขยะที่เหลือได้นำไปกำจัดร่วมกับเทศบาลตำบลฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่”

โครงการจัดการขยะมูลฝอยของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ยังเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย บนพื้นที่สูงอื่นๆ เช่น พื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และยังเป็นแนวทางที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และศูนย์อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนโครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของศูนย์ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จฯเยี่ยมราษฎร เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบนพื้นที่ห่างไกลต่อไป
นายรังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)
โรงเลี้ยงไส้เดือน
ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยน้ำ ผลผลิตที่ได้จากมูลไส้เดือน
หมูหลุมช่วยกินเศษผัก และเศษอาหาร
ภูริพงษ์ ก๋าวิชัย นักวิชาการดูแลจัดการขยะของสถานีเกษตรหลวง
แพะที่เลี้ยงไว้เพื่อช่วยกำจัดขยะอินทรีย์
แยกขยะอินทรีย์บางส่วนมาหมักทำปุ๋ย
ต้นกล้าที่สมบูรณ์ ผลผลิตจากปุ๋ยหมัก
ชาวบ้านกำลังถอนวัชพืชบนแปลงสลัดอันเขียวชอุ่ม
ผักสลัด หนึ่งในผลผลิตของสถานีเกษตรหลวง
ดอกไม้เมืองหนาว
กำลังโหลดความคิดเห็น