ลำปาง - เทศบาลตำบลบ้านสา ร่วมปูนซิเมนต์ลำปาง บริหารจัดการขยะในชุมชน ขยายแนวคิดสู่ระดับจังหวัด ลดปัญหาขยะแบบยั่งยืน
นางสาวมะลิวัลย์ ฝันมะติ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.บ้านสา ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่จนประสบความสำเร็จไปได้ระดับหนึ่ง ให้สื่อมวลชนในจังหวัดลำปาง เพื่อนำไปขยายผลและเผยแพร่ต่อสาธารณะใช้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะของชุมชนว่า เดิมทาง อบต.บ้านสาประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บขยะชุมชน ไม่มีที่สำหรับกำจัดขยะ เนื่องจากพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ป่าไม้และไม่สามารถอนุญาตให้นำไปใช้ในการฝังกลบขยะได้ ทาง อบต.จึงได้หาวิธีเพื่อแก้ไขปัญหา แม้จะใช้วิธีฝังกลบในพื้นที่ว่างเท่าที่มีอยู่ แต่ก็เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม การนำขยะมาทำปุ๋ยชีวภาพก็มีการทำเพียงส่วนเล็กๆเท่านั้น
สุดท้ายทาง อบต. จึงได้นำเรื่องเข้าปรึกษากับ บริษัท ปูนซิเมนต์ลำปาง เพื่อช่วยกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะให้ถูกวิธี จึงได้เริ่มต้นการนำผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะ ณ เทศบาลตำบลเมืองแกลง จังหวัดระยอง, ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ขยะรีไซเคิลขยะชุมชน หมู่บ้านพบสุข เทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี และเทศบาลตำบลกระดังงา จ.สมุทรสงคราม จนได้แนวคิดในการดำเนินโครงการ และได้ลงมือทำประชาคมหมู่บ้านปูนลำปางร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านสา ในการจัดทำโครงการกำจัดขยะแบบประชาชนมีส่วนร่วมขึ้น โดยมีบริษัทปูนซิเมนต์ฯ ให้การสนับสนุนจัดหางบประมาณในการจัดตั้งศูนย์จัดการวัสดุไม่ใช้แล้ว ณ ต.บ้านสา พร้อมกับการลงพื้นที่ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องการคัดแยกและการใช้ประโยชน์จากวัสดุไม่ใช้แล้วแก่ชาวบ้าน และจัดทำโครงการขึ้นมารองรับขยะจากชุมชน
โดยแบ่งประเภทขยะดังนี้ ขยะรีไซเคิลได้ทำโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย ได้ทำโครงการชุมชนปลอดขยะอันตราย ขยะเปียกและเศษอาหาร ได้ทำโครงการทำปุ๋ยหมักจากเศษพืช, การทำน้ำหมักชีวภาพ และขยะที่ไม่สามารถคัดแยก ได้สร้างศูนย์จัดการวัสดุไม่ใช้แล้วฯ ขึ้น
สำหรับโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลนี้ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี ในระยะแรกประชาชนยังขาดความเข้าใจ และวิธีการเข้าร่วมโครงการฯ แต่เมื่อพนักงานเทศบาลตำบลบ้านสาได้เข้าไปอธิบายวัตถุประสงค์ของโครงการฯ วิธีการดำเนินงาน และผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจในระดับหนึ่ง ในปี 2554 มีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ 300 ครัวเรือน มียอดรับซื้อขยะรีไซเคิลจำนวน 199,140.68 บาท ต่อมาปี 2555 ได้มีประชาชนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกำหนดเป้าหมายครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ 500 ครัวเรือน และปัจจุบันมียอดจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ 589 ครัวเรือน ยอดรับซื้อขยะ 538,015.80 บาท
ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดทำโครงการเพื่อรองรับขยะแต่ละประเภท ส่งผลให้ปริมาณขยะในชุมชนมีจำนวนที่ลดลง และผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือ “การจัดการขยะในชุมชน อย่างถูกวิธี ยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม” ซึ่งทางชุมชนจะได้ขยายแนวคิดนี้ออกสู่สังคมต่อไปเพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะได้อย่างยั่งยืนและถาวร
ด้านนายสุธี สุธนรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวว่า การเริ่มต้นโครงการนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม แม้จะเป็นการเริ่มต้นแต่ประชาชนในพื้นที่คือตำบลบ้านสา ก็ให้ความสนใจ ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีการจัดการด้านขยะดีขึ้น ทุกบ้านก็ต้องมีขยะ แต่เมื่อเรารู้จักแยกขยะแล้วนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์หรือนำมาขายก็จะสร้างรายได้ เป็นโปรเจกต์ที่ยั่งยืน ชุมชนก็มีรายได้ สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้นด้วย ตนอยากให้ทุกพื้นที่ทำแบบเดียวกันนี้
ส่วนขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ถุงพลาสติก เมื่อชุมชนนำมาผ่านกระบวนการคัดแยกและทำให้แห้งแล้ว ทางบริษัทปูนซิเมนต์ฯ ก็จะเป็นผู้รับซื้อขยะเหล่านั้นเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแข็งทดแทน หรือ RDF : Refuse Derived Fuel ในการเผาปูนซิเมนต์ ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส จนทำให้เกิดการเผาไหม้แบบสมบูรณ์ ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานด้วย