xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านจวกนักวิชาการผลาญงบฯ จัดเสวนาแก้ปัญหาวิกฤตโลมากว่า 20 ปีไม่เห็นผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - นักวิชาการ และกลุ่มเอ็นจีโอจัดสัมมนาแก้ปัญหาวิกฤตโลมาในทะเลสาบสงขลา ขณะที่ชาวบ้านรอบทะเลสาบจวก สัมมนาละลายงบประมาณกันทุกปี กว่า 20 ปี มาแล้วไม่เห็นมีอะไรเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า ที่โรงแรมชัยอังคณาธานี อ.เมืองพัทลุง ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในการสัมมนาวิชาการ ระหว่างชาวบ้าน และนักวิชาการฯ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมริมทะเลสาบสงขลา เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาวิกฤตโลมาอิรวดีในทะเลสาบที่ตายลงทุกปี และมีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤต หวั่นจะหายไปจากทะเลสาบแห่งนี้

โดยในเวทีสัมมนา กลุ่มนักวิชาการ และนักอนุรักษ์ยังคงมองปัญหาการตายของโลมาดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากสาเหตุการตายของโลมาในทะเลสาบสงขลา เกิดจากการติดอวนปลาบึกของชาวประมง และอีกสาเหตุคือผสมสายพันธุ์ด้วยกันเองจนทำให้เกิดเลือดชิ ดและไม่แข็งแรง ซึ่งในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันพบว่า โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตายไปแล้วทั้งสิ้น 12 ตัว และยังเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ตัวในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาวิกฤตโลมาอย่างเร่งด่วนดังกล่าว ก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปจากทะเลสาบสงขลาที่มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา

โดย ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เป็น 1 ใน 5 โลมาน้ำจืดที่เหลืออยู่ในโลก ได้แก่ ทะเลสาบสงขลา ทะเลสาบเซลิก้า แม่น้ำมหคามในประเทศอินโดนีเซีย และแม่น้ำอิรวดีในพม่า โลมาอิรวดี ที่กำลังเกิดภัยคุกคามล่าสุดคือ ในแม่น้ำโขง และทะเลสาบสงขลา สำหรับในทะเลสาบสงขลา เกิดภาวะชาวประมงไปวางอวนดักปลาบึกเป็นเหตุให้โลมาตายลงเป็นจำนวนมาก

และปัจจุบัน ในทะเลสาบสงขลาเมื่ออดีตมีคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า เคยพบโลมาอาศัยไม่ต่ำกว่า 150-200 ตัว แต่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึง 20 ตัว จึงถือว่าเข้าขั้นวิกฤต และจำเป็นที่ต้องอนุรักษ์กันอย่างเร่งด่วนต่อไป และโดยเร็วอีกด้วย ซึ่งในขั้นแรกคือ ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และขอซื้ออวนประมงปลาบึก กัดตาใหญ่คืนจากชาวบ้าน และเร่งสร้างอาชีพเสริมแก่ชาวบ้านที่ทำอาชีพดักอวนปลาบึกในทะเลสาบขาย จึงจะสามารถแก้ปัญหาการตายในเบื้องต้นได้

ในขณะที่ชาวบ้านที่ทำการประมงรอบทะเลสาบฝั่งพัทลุง กล่าวเห็นด้วยกับการอนุรักษ์โลมาอิรวดีให้อยู่คู่กับทะเลสาบแห่งนี้ แต่ที่ผ่านมา นักวิชาการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งกลุ่มเอ็นจีโอได้ทำแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลามาแล้วกว่า 20 ปี แต่ไม่เคยเห็นทำอะไรเป็นรูปเป็นร่าง ได้แต่ประชุมสัมมนาเพื่อละลายงบประมาณประจำปีเท่านั่น และโลมาก็ยังตายลดจำนวนลงเรื่อยๆ จึงอยากให้กลุ่มนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับโลมาให้รักโลมาอย่างจริงจัง ไม่ใช่รักที่ตัวเงินงบประมาณที่ลงมาแต่ละครั้ง ถ้าเป็นอย่างนั้น โลมาจะหายไปจากทะเลสาบแห่งนี้อย่างแน่นอน






กำลังโหลดความคิดเห็น