ปัตตานี - แม่ทัพภาค 4 เปิดเวทีเจรจาร่วมเชิงบูรณาการ ตั้งคณะกรรมการประสาน และรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงในชายแดนใต้ โดยมีกลุ่มผู้ที่มีหมายจับ ป.วิอาญา และหมาย พ.ร.ก.เข้าแสดงตนเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 19 ราย
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (27 ก.ย.) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ภาคที่ 4 เดินทางประชุมคณะกรรมการประสานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยประกอบด้วย คณะกรรมการที่มาจากผู้บัญชาการหน่วยทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมทั้งคณะกรรมการดำเนินงานที่มาจากตัวแทนกลุ่มที่เข้ามาแสดงตัวขอยุติการก่อเหตุความรุนแรง เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 93 ราย
ทั้งนี้ การประชุมได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่ยังคงเกิดขึ้น แม้จะมีการเข้ามารายงานตัวของทั้งระดับแกนนำ ตลอดจนแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบก็ตาม อีกทั้งยังได้กำหนดแผนการดำเนินงาน รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์สภาพปัญหาการก่อเหตุไม่สงบ พร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขโดยยึดหลักสันติวิธี ส่งเสริมจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนในการปฏิเสธการก่อความไม่สงบ เร่งการดำเนินการในการออกมาแสดงตน และรณรงค์ให้กลุ่มที่ยังต่อสู้กับรัฐได้ยุติบทบาทการก่อเหตุรุนแรง และได้กลับมาร่วมแสดงตน
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ได้มีกลุ่มแนวร่วมที่มีความคิดเห็นต่าง และมีหมายจับ ป.วิอาญา และหมาย พ.ร.ก. ได้ประสานผ่านคณะกรรมการประสานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 19 ราย ได้เข้ารายงานตัวต่อ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ภาคที่ 4 ด้วย
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ภาคที่ 4 กล่าวว่า การที่กลุ่มผู้เคยหลงผิดเข้ามารายงานตัวในครั้งนี้ก็เกิดจากมีความเข้าใจมากขึ้น ทางภาครัฐเองก็จะนำบุคคลดังกล่าวที่เคยมีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในอดีตได้เข้าไปทำความเข้าใจ และหันกลับมาร่วมกับทางภาครัฐในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การสร้างความเข้าใจยังถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยผู้ที่เข้ามารายงานตัวในวันนี้ก็จะได้รับหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มที่ยังก่อความไม่สงบอยู่และที่ยังคิดว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่มวลชนต้องการ แต่ความจริงมวลชนไม่ต้องการความรุนแรง จึงเปิดเวทีให้มีการพูดจาในเรื่องของการสร้างสันติภาพ
ในขณะที่เรื่องของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมก็ต้องว่าตามกระบวนการยุติธรรม แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมนั้น กับคนกลุ่มหนึ่งที่ได้เข้ามาก่อเหตุ บางคน กลุ่มบางคนไม่ได้เป็นอาชญากรโดยสันดาน ดังนั้น ทางภาครัฐก็ต้องหาวิธีการที่จะดำเนินการเพื่อหาความเป็นธรรม กฎหมายยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์ และมีช่องทางในการดำเนินการหลายอย่าง เช่น มาตรา 21 หรือมาตราอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ก็ได้พยายามศึกษาอย่างจริงจัง และได้เตรียมช่องทางไว้แล้ว ซึ่งอาจจะพูดรายละเอียดได้ไม่มาก
แต่เมื่อมีผู้ที่เข้ามามอบตัว หากมีหมาย ป.วิอาญา มาต่อสู้คดี ภาครัฐก็จะให้ประกันตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะรวบรวมพยานหลักฐาน หากมีไม่เพียงพอก็จะไม่ส่งฟ้อง แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยังมีความคลางแคลงใจว่ามีคดีหรือไม่ ก็จะใช้มาตรา 21 และจะให้คำแนะนำในการชักจูงผู้ที่อยากจะออกมาต่อสู้ในแนวทางสันติด้วย