xs
xsm
sm
md
lg

รณรงค์ยุติความรุนแรงในเด็ก และสตรีที่กระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - สำนักงานอัยการสูงสุดรณรงค์ยุติความรุนแรงในเด็ก และสตรีที่จังหวัดกระบี่

วันนี้ (24 ก.ย.) ที่ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมรณรงค์เพื่อความยุติความรุนแรงต่อสตรี และเด็ก โดยมีนายสมาน แสงสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดกระบี่ ประชาชน นักเรียนเข้าร่วม

นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมในด้านการส่งเสริมให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด มีภารกิจอันสำคัญ คือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเพศวัย ทั้งเด็ก สตรี คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส โดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมของปวงชนชาวไทย

โดยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายในด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชน จึงได้สนองแนวพระราชดำริในการดูแลประชาชนผู้ทุกข์ยาก ด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนชาวไทยทั้งใน และต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่มีนิติสัมพันธ์กับคนไทยในประเทศ ในโอกาสที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงงานเป็นพนักงานอัยการจึงทำให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงสัมผัสกับความทุกข์ยาก ความเดือดร้อน และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใกล้ชิด

จึงทรงธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และความมีเมตตาในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ตกทุกข์ได้ยากในสังคม ทั้งทรงห่วงใยถึงปัญหาการที่สตรีถูกรังแก ถูกใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะทางกาย วาจา ใจ จึงทรงเมตตาตอบรับเป็นทูตสันถวไมตรีให้แก่ยูนิเฟม ในโครงการ Say No to Violence Against Women ให้มีการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี และทรงมีแนวพระราชดำริให้องค์กรทางกฎหมายบูรณาการทำงานร่วมกับสนับสนุน และส่งเสริมดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว

ทรงมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรม รณรงค์ และเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบยุติความรุนแรง โดยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานทำหน้าที่คุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง และมีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการ และวิธีการบรรเทาทุกข์ที่เหมาะสม

และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 52 วรรคสอง กำหนดว่า “เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว ในการจัดงานเป็นเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เผยแพร่ให้ความรู้ทางกฎหมาย รู้ถึงสิทธิ หน้าที่ของตนตามกฎหมายดังกล่าว และสามารถเชื่อมโยง ประสานงานอย่างบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมาตั้งแต่ปี 2553

กำลังโหลดความคิดเห็น