xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.สงขลา-ทน.หาดใหญ่ตั้งงบ 70 ล้านรับมือ “น้องน้ำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สงขลาเตรียมรับมือน้ำท่วม อบจ.สงขลา เตรียมงบ 40 ล้าน ทน.หาดใหญ่ 30 ล้าน ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 11 เครื่อง ระบายน้ำลงทะเลสาบ

นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร (ทน.) หาดใหญ่ เปิดเผยว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันออกกำลังเข้าย่างเข้าสู่หน้ามรสุม คาดว่าปี 2555 จะมีปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับปี 2554 ทน.หาดใหญ่เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีภาวะเสี่ยงน้ำท่วม เนื่องจากแหล่งรองรับน้ำธรรมชาติกำลังลดน้อยลง พื้นที่ส่วนหนึ่งถมดินเพื่อใช้ในก่อสร้างที่อยู่อาศัย จึงได้มีมาตรการป้องกันขุดลอกคูคลองในเขตเทศบาล และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรอบๆ ทน.หาดใหญ่เร่งการขุดลอกสายน้ำ เพื่อให้น้ำฝนจาก อ.สะเดา ไหลลงคลองสายหลัก และลงทะเลสาบได้รวดเร็ว

นายไพร กล่าวต่อว่า ในมาตรการให้การช่วยเหลือได้ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทน.หาดใหญ่ โดยมีภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนเข้าร่วมทำงาน พร้อมกับการเตรียมอุปกรณ์ และกำลังคนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยได้สำรองงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำดื่ม อาหาร และเวชภัณฑ์ มีความพร้อมในการป้องกันและช่วยเหลือมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา

นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เปิดเผยว่า ต้นเดือน ต.ค.จะเป็นช่วงหน้าฝนของ จ.สงขลา คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมซึ่งมีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 100 กว่าหมู่บ้าน ตั้งงบสำรองจ่ายไว้ประมาณ 40 ล้านบาท และ อบจ.ได้มอบภารกิจให้แก่ อบจ.ส่วนหน้า อ.สทิงพระ รับผิดชอบ อ.สทิงพระ ระโนด อ.กระแสสินธิ์, อบจ.ส่วนหน้า อ.นาทวี รับผิดชอบ อ.นาทวี สะบ้าย้อย เทพา อ.จะนะ และ อบจ.ส่วนหน้า อ.หาดใหญ่ รับผิดชอบ อ.หาดใหญ่ นาหม่อม บางกล่ำ สะเดา ส่วน อบจ.ดูแล และรับผิดชอบอำเภอที่เหลือ ได้สั่งการให้ฝ่ายโยธาฯ เตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักร และกำลังคนพร้อมใช้งานทัน

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เดือน ต.ค.หน้าฝนของ จ.สงขลา ได้เตรียมการรับมือน้ำท่วมไว้แล้ว ให้รองผู้ว่าฯ ทั้ง 3 คนรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ ได้ให้กรมชลประทานขุดลอกปากคลองลงทะเลสาบสงขลา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 11 เครื่อง และมีการขุดลอกคลองอู่ตะเภาเพื่อป้องกันน้ำท่วมหาดใหญ่ และปริมณฑล พร้อมกับกำชับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม

กำลังโหลดความคิดเห็น