xs
xsm
sm
md
lg

การเข้าถึงงานที่มั่นคง..กับการสร้างสุขภาวะของแรงงานนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...พันธ์  วรรณบริบูรณ์
กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า เขตร่มเกล้า กทม.
เรามักเห็นคนหลายฝ่ายในบ้านเมืองออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ว่า “ไม่ใช่” ตัวแทนความสุขของปวงชน (คนส่วนใหญ่) และจีดีพีเป็นตัวเลขที่มาจาก “การใช้เงินจับจ่ายเพื่อบริโภค” แต่การใช้เงินจับจ่ายแล้วไม่มีความสุข เพราะคนจำนวนมากไม่มีเงิน เนื่องจากรายได้น้อย (ค่าจ้างแรงงานราคาถูก ผลิตผลการเกษตรราคาถูก) ต้องเป็นหนี้เพื่อได้เงินมาจับจ่าย
 
ดังนั้น การจะทำให้จีดีพีเป็นตัวแทนความสุขของปวงชน (คนส่วนใหญ่) ก็คือ “ทำให้พวกเขามีอำนาจการซื้อมากขึ้น โดยไม่ต้องเป็นหนี้” นั่นคือ ต้องกระจายงาน กระจายรายได้ เพื่อลดการรวยกระจุก จนกระจายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องยาก และเรื่องใหญ่ระดับโครงสร้าง

กรุงเทพมหานคร... เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีการปกครองแบบพิเศษ โดยแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 50 เขต มีประชากรทั้งสิ้น 10 ล้านคน เป็นประชากรตามทะเบียนราษฎร 5.7 ล้านคน และประชากรแฝง 4.3 ล้านคน โดยมีประชากรวัยทำงาน 3.8 ล้านคน จำแนกเป็น แรงงานในระบบ 2.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 67.8 และเป็นแรงงานนอกระบบ 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.2 ของประชากรวัยแรงงาน
 
ผู้ประกอบอาชีพอิสระและรับจ้าง หรือแรงงานนอกระบบในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเคลื่อนย้ายมาจากภูมิภาค จึงมีสถานะเป็นประชากรแฝงที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าไม่ถึงสิทธิที่จำเป็นพื้นฐานในหลายเรื่อง และด้วยความหลากหลายของอาชีพ และความต้องการของแรงงานนอกระบบใน กทม. จึงเป็นข้อจำกัดต่อการรวมกลุ่มอาชีพ รวมทั้งเงื่อนไขของนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบของกรุงเทพฯ ที่เป็นอุปสรรค หรือข้อจำกัดต่อการประกอบอาชีพ เช่น ไม่ได้รับ “บัตรอาชีพผู้ประกอบการ...” ซึ่งหมายถึง การรับรองอาชีพ การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เช่น แหล่งทุน สถานที่ประกอบอาชีพ สวัสดิการ ฯลฯ และทำให้แรงงานกลุ่มนี้ต้องประสบกับความไม่มั่นคงในงาน/อาชีพ งานไม่สม่ำเสมอ มีรายได้น้อย ไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้ไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ของตัวเอง และครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
 
ในชุมชนของ กทม.เรามักเห็นผู้คนประกอบอาชีพที่หลากหลาย และสอดคล้องกับวิถีชีวิต และความต้องการของคนในพื้นที่นั้นๆ อาชีพหนึ่งที่พบเห็นกันมากคือ อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน ซึ่งเป็นรับจ้างการผลิตให้แก่ผู้ว่าจ้างจากภายนอกชุมชน โดยติดต่อ และให้งานผ่าน “คนกลาง” ในชุมชน แล้วส่งงานต่อให้เพื่อนๆ ในชุมชน “เย็บ” หรือให้ “กลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า” รับงานไปทำเป็นกลุ่ม
 
คนเหล่านี้ทำงานรับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น ราคาถูก ต่อรองไม่ได้ มีงานไม่สม่ำเสมอ มีรายได้ไม่แน่นอน  รวมทั้งต้องเสี่ยงกับสุขภาพ และความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากต้องทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกันจึงจะมีรายได้เพียงพอสำหรับการกินการอยู่ของครอบครัว หากเกิดการเจ็บป่วยต้องใช้เงินดูแลตัวเอง เพราะแรงงานนอกระบบบางส่วนเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ “บัตรทอง” ในขณะที่ส่วนต่างของ “กำไร” อยู่ที่เจ้าของงาน หรือผู้ว่าจ้าง

ก่อนหน้ารัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. สำนักการศึกษาของ กทม.เป็นผู้จัดให้มีการจัดจ้างจัดหาเครื่องแบบนักเรียน โดยให้ผู้ต้องการรับจ้างจัดหาเครื่องแบบนักเรียนดำเนินการผ่านข้อกำหนดของกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่ “ผู้รับจ้าง” เป็นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ที่จดทะเบียนในรูปห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ที่มีกำลังการผลิต มีทุน และการผลิตที่ได้มาตรฐาน...
 
กลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน “เข้าไม่ถึง” การจ้างงาน เนื่องจากเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และติดข้อกำหนดของ กทม.เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้รับจ้าง ไม่มี “ทุน” สำหรับการประมูล และวางมัดจำเพื่อรับงาน
 
เมื่อปี 2551 รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปลี่ยนนโยบายการจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียน จากเดิมให้เป็นการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง เมื่อนักเรียนนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกกับทางโรงเรียน ต่อมา รัฐบาลนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายค่าชุดนักเรียนตามโครงการเรียนดีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการจัดสรรตัวเงินตรงไปถึงกลุ่มเป้าหมาย
 
จากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว ทำให้รูปแบบการจัดหาเครื่องแบบนักเรียนและช่องทางการเข้าถึงการจ้างงานชุดนักเรียนเปลี่ยนไป คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการเข้าถึงการจ้างงาน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน

คลายปม..สู่การเข้าถึงการจ้างงานชุดนักเรียน กทม.
 
การเข้าถึงการจ้างงานชุดนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. นับว่าเป็นการกระจายงาน กระจายรายได้ เพื่อลดการรวยกระจุก ทุกข์กระจาย ของกลุ่มอาชีพในชุมชน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ สำนักงานเขตกรุงเทพฯ (ส่วนกลาง) กำหนดให้มีนโยบายการจ้างงงานตัดเย็บเสื้อผ้านักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อสนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการจ้างงานตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า สนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมืออาชีพที่สอดคล้องกับนโยบายการจ้างงาน พร้อมทั้งออกใบรับรองฝีมือ และใบรับรองคุณภาพการผลิต รวมถึงโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจ้างงานตัดเย็บเสื้อผ้าแก่กลุ่มอาชีพในเขตพื้นที่/ชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านช่องทางที่ทำให้กลุ่มอาชีพในชุมชนเข้าถึง และรับทราบได้รวดเร็ว
 
ในขณะที่กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าเองต้องศึกษาเงื่อนไขการจ้างงาน รวมกลุ่มอาชีพ/เครือข่ายเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับงานตัดเย็บเสื้อผ้า พัฒนาตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการรับงาน (ทักษะการผลิต ทักษะการบริหารจัดการ เพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์) และมีทีมติดตามประสานงานและควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานของสินค้าตัดเย็บเสื้อผ้า
 
นี่คือ หนึ่งแนวคิด...หนึ่งตัวอย่างจากประสบการณ์ของกลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าในกรุงเทพฯ ที่พยายามเข้าให้ถึงแหล่งงานที่มั่นคง มีงาน มีรายได้สม่ำเสมอ มีส่วนในการกำหนดราคาเอง เปลี่ยนสถานะจากผู้รับจ้างผลิต...สู่การเป็นผู้ประกอบการ ที่นอกจากจะได้รับค่าตอบแทนตามกำลังแรงกายในการทำงานแล้ว ยังได้มีส่วนในการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพของตนในฐานะสมาชิก กรรมการกลุ่ม พร้อมทั้งได้เรียนรู้การบริหารจัดการคน การผลิต และทุน และหากมีงานอย่างต่อเนื่องจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะฝีมือ และการบริหารจัดการ รวมถึงการมีกลุ่มที่เข้มแข็งชัดเจนยิ่งขึ้น
 
จากประสบการณ์ของกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานในชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับโรงเรียนของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เช่น ผ้าคลุมผมนักเรียนในโรงเรียนมุสลิม ขณะที่ในชุมชนมีกลุ่มปักผ้าคลุมผมจำนวนไม่น้อย ที่มีทักษะฝีมือ และเครื่องมือ อุปกรณ์พร้อม แต่กลับไปรับงานปักผ้าคลุมผมจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็น “คนกลาง” ระหว่างผู้ผลิต คือ พี่น้องในสามจังหวัดที่ได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด ในขณะที่พี่น้องต้องทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน ต้องใช้สายตาเพราะเป็นงานละเอียด และทำงานท่าเดียวนานๆ และผู้บริโภคในประเทศมุสลิมอื่นๆ ในราคาที่ “สูง” กว่าค่าแรงที่พี่น้องได้รับหลายเท่าตัว ฉะนั้น การได้งานปักผ้าคลุมผมนักเรียนจะทำให้พี่น้องมีงาน และรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้นได้
 
อย่างไรก็ตาม การผลักดันเพื่อให้ “อุโมงค์เปิด” เพื่อสร้างช่องทางให้พี่น้องกลุ่มอาชีพเข้าถึงงานเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องงาน แต่ต้องการปรับเปลี่ยนนโยบายในระดับองค์กร ท้องถิ่น และอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมถึงความพร้อมของพี่น้องกลุ่มอาชีพเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ “อุโมงค์เปิด” เร็วขึ้นหรือไม่ อย่างไร? ที่จะทำให้กลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงการจ้างงานที่มั่นคง มีรายได้ที่เหมาะสมสำหรับการดูแลตนเอง ครอบครัวในเรื่องการศึกษา สุขภาพ และการจัดหาสวัสดิการพื้นฐาน และจำเป็นอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น