xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลวิจัยป่าพรุควนเคร็งทางออกแก้ปัญหายั่งยืนต้องเป็นระบบโดยชุมชนมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - ผอ.แผนงานวิจัย ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช เปิดผลวิจัยป่าพรุควนเคร็ง เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นผลในด้านจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาสภาพทางนิเวศของป่าพรุ ชี้ทางออกการแก้ปัญหายั่งยืนต้องจัดการเป็นระบบ และชุมชนต้องมีส่วนร่วม

ดร.สุมาลี เลี่ยมทอง ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2554 เพื่อดำเนินการศึกษาป่าพรุในบริเวณพื้นที่ ต.เคร็ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของป่าพรุควนเคร็ง เพื่อศึกษาถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในป่าพรุ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่าพรุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ระบุต่อว่า โดยในการศึกษาวิจัยนี้ได้ประกอบไปด้วยแผนโครงการจำนวน 9 โครงการ ประกอบด้วย 1.ด้านการศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พรุควนเคร็ง 2.ด้านพลวัตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 3.ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาความหลากหลายของยุงในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 4.ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาสังคมพืช และปลาในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 5.ด้านผลกระทบของไฟป่าต่อความหลากหลายของเชื้อรา และสาหร่ายในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง

6.ด้านผลกระทบของการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและดินในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 7.ด้านการคัดเลือกราเอนโดไฟท์ที่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 8.ด้านฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณน้ำมันหอมระเหยในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง และ 9.ด้านระบบสารสนเทศและตัวแบบเชิงภูมิศาสตร์สำหรับการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง

“สำหรับการดำเนินงานได้ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โรงเรียน และองค์กรชุมชนต่างๆ พร้อมกับเปิดเวทีชุมชนตั้งแต่เยาวชนในพื้นที่ได้เข้าร่วมศึกษาวิจัยและเรียนรู้ท้องถิ่นของตนเอง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการจัดการป่าพรุอย่างยั่งยืน ได้มีการอบรมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้แผนงานวิจัยการจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าพรุควนเคร็งอย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ ให้คณะครู และนักเรียนชะอวดวิทยาคาร และโรงเรียนชะอวดเคร่งธรรมวิทยา”

ดร.สุมาลี เลี่ยมทอง ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวต่อว่า ภายหลังพบว่าหลังจากการฝึกอบรม คณะครูได้นำความรู้จากงานวิจัยดังกล่าว ไปใช้เป็นแนวทางให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดจิตสำนึกในการหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จากองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการวิจัย นอกจากจะนำไปเผยแพร่ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์งานประชุมทางวิชาการต่างๆ และใช้ประกอบการสอนนักศึกษาแล้ว

การนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดกลับให้แก่ท้องถิ่นผ่านทางการจัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อให้หน่วยงานราชการ และองค์กรชุมชุนต่างๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการบริหารจัดการป่าพรุ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และเกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งจะเป็นผลในด้านจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาสภาพทางนิเวศของป่าพรุ การดูแลกันเองของชุมชนส่งผลให้เกิดความยั่งยืน

กำลังโหลดความคิดเห็น