xs
xsm
sm
md
lg

เด็กสุรินทร์พายเรือวิเคราะห์คุณภาพลำน้ำมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติพงษ์พายเรือขณะที่หรรษาเก็บตัวอย่างน้ำจากลำน้ำมูล
สสวท.-เด็กสุรินทร์สงสัยกิจกรรมคนกระทบแพลงก์พืชแค่ไหนในลำน้ำมูล พายเรือเก็บตัวอย่างน้ำหาความหลากหลายของแพลงก์ตอนตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงแหล่งรับน้ำภาคชุมชน และภาคการเกษตร พร้อมคว้ารางวัลชมเชยระหว่างนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

จิตสำนึก และความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ เป้าหมายหลักของการกระตุ้นให้นักเรียนใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และนี่คือที่มาของโครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) ซึ่งดำเนินการโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศ

หนึ่งในผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลชมเชย ในการประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ระดับโรงเรียน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20-23 มี.ค.55 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี คือ ผลงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ต่อความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืชในแม่น้ำมูล เขตเทศบาล อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์” ซึ่งเจ้าของผลงานวิจัย คือ ด.ช.หรรษา นิยมวัน และ ด.ช.กิตติพงษ์ พรมกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี อาจารย์วิธิวัติ รักษาภักดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

หรรษา บอกว่า ในฐานะที่เกิดและใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำมูลมาตลอด แม่น้ำมูลยังเป็นแม่น้ำสายสำคัญ และเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประชากรในแถบนี้ โดยเฉพาะที่อำเภอท่าตูมที่เขาอยู่อาศัย แต่ปัจจุบัน เขาสังเกตเห็นว่า แม่น้ำมูลมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพน้ำ จากการสังเกตจึงนำมาสู่การตั้งคำถามและสมมติฐานที่ว่า กิจกรรมของมนุษย์นั้นมีผลต่อคุณภาพน้ำ และความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช ส่วน กิตติพงษ์ เสริมว่า ที่เลือกศึกษาแพลงก์ตอน เนื่องจากแพลงก์ตอนบางชนิดใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำได้ เราจึงทำวิจัยโดยวัดคุณภาพน้ำ 3 จุด ใช้เวลาทำวิจัยรวมแล้วประมาณ 1 ปี

“เราทำการวิจัยเชิงสำรวจในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านเทศบาลท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ กำหนดจุดเก็บข้อมูล 3 จุด คือ จุดที่ 1 บริเวณต้นน้ำ จุดที่ 2 บริเวณรับน้ำชุมชน และจุดที่ 3 บริเวณรับน้ำภาคเกษตร เก็บข้อมูลแพลงก์ตอนพืชและตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนาม โดยมีระยะเวลาการเก็บข้อมูล 2 ช่วง คือ ก่อนมรสุมและหลังมรสุมครับ” กิตติพงษ์และหรรษาเล่าถึงการทำงานวิจัยที่ผ่านมา

ผลการวิจัยพบว่า บริเวณต้นน้ำพบชนิดของแพลงก์ตอนพืชมากที่สุด ถัดไปคือบริเวณรับน้ำชุมชน และบริเวณรับน้ำภาคเกษตรตามลำดับ ส่วนผลการศึกษาคุณภาพน้ำจากทั้ง 3 จุด พบว่า มีคุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีค่าไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำโดยในบริเวณต้นน้ำ มีคุณภาพดีที่สุด ถัดมาเป็นบริเวณรับน้ำชุมชน และบริเวณรับน้ำภาคเกษตรตามลำดับ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กิจกรรมของมนุษย์มีผลต่อคุณภาพน้ำ และความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช โดยพื้นที่ที่คุณภาพน้ำดีจะมีความหลากหลายของแพลงก์ตอนมากกว่าพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำต่ำ

หรรษา บอกว่า ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรคบ้างในเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ แต่ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ การทำงานวิจัยทำให้รู้วิธีการเก็บข้อมูล ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้การทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ ความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วน กิตติพงษ์ บอกว่า การได้ลงมือปฏิบัติทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจมากขึ้นกว่าการเรียนในห้องเรียน ได้ออกสำรวจสิ่งแวดล้อม มีทักษะความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น สามารถนำไปใช้ในระดับที่สูงขึ้นได้

ด้าน อาจารย์วิธิวัติ รักษาภักดี อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย เสริมถึงประโยชน์ที่น้องทั้งสองคนได้รับจากการได้ทำวิจัยในโครงการ GLOBE ว่า การได้ลงมือฝึกฝนการทำวิจัยทำให้เด็กมีทักษะทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และได้เข้าใจลึกซึ้งในสิ่งที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ในท้องถิ่นของเรายังมีเรื่องน่าสนใจให้ศึกษาค้นคว้าและทดลองอีกหลายอย่าง อย่างเช่นปีหน้าก็เริ่มคุยกันแล้วว่า เด็กๆ อยากทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องข้าว เพราะในท้องถิ่นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีการปลูกข้าวกันมาก

“การได้ทำวิจัยทำให้เด็กได้รู้จักตั้งคำถาม รู้จักสำรวจ และใช้อุปกรณ์ต่างๆ ทำให้มีเขามีพื้นฐานในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป แม้วันนี้เขาอาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจน หรือยังไม่รู้คุณค่า แต่ในอนาคตทักษะเหล่านี้จะทำให้เกิดประโยชน์ในการเรียนที่สูงขึ้นไป” อาจารย์วิธิวัติ กล่าวถึงประโยชน์ในการทำวิจัยเพื่อให้มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
เก็บตัวอย่างน้ำใส่ขวด
ส่องกล้องวิเคราะห์ตัวอย่าง
จับกลุ่มวิเคราะห์ข้อมูล
รับรางวัลชมเชยโครงการ GLOBE พร้อม อาจารย์วิธิวัติ รักษาภักดี
กำลังโหลดความคิดเห็น