สสวท.- สสวท.จับมือองค์กรพันธมิตรและคณะวิทย์ มหิดล จัดการประชุมวิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชนเป็นครั้งที่ 7 หวังกระตุ้นความสนใจและสร้างกระแสตื่นตัวทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น พร้อมชี้เป้าสร้างนักวิทยาศาสตร์ให้ได้ 15 คน ต่อประชากร 10,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมจัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7 (วทท.เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7) ในหัวข้อ “เยาวชนวิทย์ คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ” ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ค.55 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(สสวท.) เปิดเผยว่า ในยุคเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ถือเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ การสร้างนักวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศไทย ทาง สสวท.ได้ให้การสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถในระดับเยาวชนโดยให้ทุน พสวท.หรือโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทมากมายในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ดร.พรพรรณกล่าวว่า แม้ว่าจะมีการผลักดันสร้างนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2560 ต้องมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ 15 คน ต่อประชากร 10,000 คน แต่ขณะนี้มีเพียง 6.7 คน เท่านั้น ซึ่งการประชุม ววท.เพื่อเยาวชนครั้งที่ 7 นี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าชมงานสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาที่มีผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และยังสร้างเวทีแสดงความสามารถ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างเยาวชนกับนักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์
“การจัดงานในปีนี้ ใช้หัวข้อเยาวชนวิทย์ คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา มีพื้นฐานจากความช่างสังเกต รู้จักเก็บรวบรวมข้อมูล คิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุและผล โดยเชื่อมโยงความรู้กับสภาพแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ ผู้ปกครองและเยาวชนที่มาร่วมในงานนอกจากจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ สนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์ หรืออาจจะก้าวไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตก็ได้” ดร.พรพรรณ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง รองคณบดี ฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีการตื่นตัวด้านการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากการผลักดันของหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะตระหนักถึงความสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ ลดช่องว่างการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้านนี้เพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อหรือพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เห็นเส้นทางอาชีพของนักวิทยาศาสตร์ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลได้สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้คนเก่งสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่าเดิม
การจัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนนี้จะนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยายและโปสเตอร์ และยังมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการแสดงผลงานวิจัย เรื่อง ตามรอยเส้นทางวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทย การเสวนาทางวิชาการ อาทิ “บันไดสู่ดวงดาว…นักวิทย์” โดย กลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ “เอาอยู่…เมื่อรู้ธรรมชาติ” โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านดิน น้ำ อากาศ และ “ตามรอย…วาฬ” โดยทีมงาน รู้ สู้ Flood เป็นต้น