ตรัง - ชาวหนองช้างแล่นโวยฟาร์มหมูญาติอดีตรองนายกเทศมนตรีแอบปล่อยน้ำเสียในช่วงฝนตกลงในลำคลองสาธารณะ จนทำให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน 1,000 คน เดือดร้อนหนัก
นายเขต อ่อนชาติ กำนันตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายสมพร บุญรงค์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 นายชัยฤทธิ์ ทองนวน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 นายวิชาญ ยอดยิ่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 และชาวตำบลหนองช้างแล่น ได้นำผู้สื่อข่าว พร้อมด้วย นายนัยสันต์ สหวิศิษฏ์ ปศุสัตว์อำเภอห้วยยอด ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่ฟาร์มหมูลักลอบแอบปล่อยน้ำเสียลงในลำคลอง หมู่ที่ 5 บ้านหนองสองพี่น้อง ตำบลหนองช้างแล่น จนส่งผลให้ปลาตายจำนวนมาก ซึ่งทราบว่าเป็นฟาร์มของญาติอดีตรองนายกเทศมนตรีชื่อดังคนหนึ่ง
โดยจากการตรวจสอบพบว่า น้ำในลำคลองมีสีแดงเข้ม และส่งกลิ่นเหม็นเน่าอย่างรุนแรง ทางผู้นำชุมชน และชาวบ้านจึงได้นำน้ำเสียที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งมอบให้แก่ทางปศุสัตว์อำเภอห้วยยอด เพื่อส่งไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเสียที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายเขต อ่อนชาติ กำนันตำบลหนองช้างแล่น กล่าวว่า เมื่อปี 2554 ฟาร์มหมูดังกล่าวได้เคยลักลอบแอบปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำลำคลองสาธารณะที่ไม่ผ่านการบำบัดตามกระบวนการมาแล้ว โดยอาศัยช่วงที่ฝนตกหนัก ส่งผลให้น้ำในลำคลองจากที่ชาวบ้านเคยลงไปเล่นน้ำ หรืออุปโภคบริโภค กลับไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากน้ำมีกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่1, 2, 4, 5, 10 ตำบลหนองช้างแล่น และหมู่ที่ 4 ตำบลห้วยนาง รวมกว่า 1,000 คน ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น อบต.ท่างิ้ว ได้เรียกประชุมชาวบ้าน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของฟาร์มหมูเพื่อทำประชาคม และมีข้อตกลงร่วมกัน
โดยทางเจ้าของฟาร์มรับปากที่จะทำการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ยอมบอกถึงสาเหตุที่ปล่อยน้ำเสียลงในลำคลอง กระทั่งล่าสุด ในช่วงที่ฝนตกหนักทางฟาร์มหมูก็ได้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในลำคลองหลายครั้ง จนชาวบ้านทนไม่ไหวต้องแจ้งให้ผู้สื่อข่าว และปศุสัตว์อำเภอห้วยยอดเข้ามาตรวจสอบ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์สภาพน้ำ อย่างไรก็ตาม หากทางฟาร์มหมูไม่ยอมแก้ปัญหาน้ำเสีย ทางผู้นำชุมชน และชาวบ้านก็จะรวมตัวชุมนุมประท้วงเพื่อกดดันให้มีการปิดฟาร์มหมูไปจนกว่าจะมีการแก้ไขให้แล้วเสร็จ
ขณะที่ นายนัยสันต์ สหวิศิษฏ์ ปศุสัตว์อำเภอห้วยยอด กล่าวว่า สำหรับฟาร์มหมูดังกล่าว เคยนำน้ำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเสีย เมื่อวันที่ 24 ส.ค.54 และผลจากการตรวจสอบพบว่า น้ำมีค่า BOD สูงถึง 358 ซึ่งโดยปกติค่าจะอยู่ที่ 60 เท่านั้น ถือว่ามีค่าน้ำเสียเกินมาตรฐาน ส่วนมาตรการดำเนินการกับฟาร์มหมูดังกล่าวนั้น ทางปศุสัตว์ไม่มีอำนาจดำเนินการ แต่จะประสานไปยัง อบต.ท่างิ้ว ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในการอนุญาตให้เปิด และปิดฟาร์มเลี้ยงหมูดังกล่าวได้