ยะลา - เกษตรจังหวัดยะลาหวั่น “ส้มโชกุนยะลา” สูญพันธุ์ เร่งส่งเสริมเกษตรกรปลูก หลังเกษตรกรโค่นต้นส้มทิ้งหันไปปลูกยางพาราแทน
นายสมนึก สะอาดใส เกษตรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำหรับส้มโชกุน ถือเป็นส้มที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดยะลา โดยเฉพาะ อ.เบตง ที่มีการปลูกส้มโชกุนกันเป็นจำนวนมาก จังหวัดยะลาเดิมทีมีพื้นที่ปลูกส้มประมาณ 7,000 ไร่ แต่ปัจจุบัน เหลือพื้นที่ปลูกส้มเพียง 1,400 กว่าไร่เท่านั้น กระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ ปัญหาในการปลูกส้มหลักๆ คือศัตรูพืช ส้มโชกุนจะมีปัญหาในเรื่องโรคกรีนนิ่ง ที่สามารถติดต่อจากต้นพันธุ์ไปยังต้นอื่นๆ ได้ ซึ่งหากยังไม่มีการส่งเสริมให้ปลูกส้มโชกุนในพื้นที่ ซึ่งดูจากแนวโน้มจากเดิมที่มี 7,000 กว่าไร่ แต่ตอนนี้เหลือพันกว่าไร่นั้น และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีก โอกาสที่ส้มโชกุนจะสูญพันธุ์นั้นก็มีโอกาส หากไม่รีบส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาปลูก
เกษตรจังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรเลิกปลูกส้มโชกุน หลักๆ ก็คือ ปัญหาโรคของส้ม การปลูกส้มจะต้องดูแลเยอะ ต้องดูแลอย่างดี ถึงจะได้ผลตอบแทนที่ดี และขณะเดียวกัน ตอนนี้ก็มีพืชตัวอื่นที่สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรได้ดีกว่า เช่น ยางพารา ที่ผ่านมาจึงทำให้เกษตรกรหลายรายหันไปปลูกยางพาราแทนส้มโชกุน
นายสมนึก ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของส้มโชกุนนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาของเกษตรจังหวัดยะลานั้น ก็จะเริ่มดำเนินการสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปลูกส้มโชกุน ปรับปรุงสวนเก่าที่มีอยู่ ตัดแต่งกิ่ง บำรุงปุ๋ย ตามหลักวิชาการ นอกจากนั้น จะสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกส้มเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสำนักงานจะลงไปให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องโรคต่างๆ รวมทั้งผลิตส้มปลอดโรค โดยจะมีการนำต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค มาเลี้ยงในโรงเรือน ที่เพลี้ยไก่แจ้ ไม่สามารถเข้าไปได้ และดำเนินการขยายพันธุ์ส้มโชกุนที่แข็งแรง ก่อนที่จะส่งให้เกษตรกรปลูกต่อไป สำหรับราคาส้มโชกุนในขณะนี้นั้น ถือว่าราคาค่อนข้างสูงถึง กก.ละ 80 ถึง 100 บาท ทำให้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกส้มโชกุนนั้นมีรายได้ค่อนข้างดี