ตรัง - หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมานาน ทั้งเรื่องการออกเอกสารสิทธิมิชอบ ท่าเทียบเรือไม่ได้มาตรฐาน ด้านผู้ว่าฯ ขานรับสั่งตั้งคณะทำงานลุยทันทีใน 7 วัน
นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง กล่าวถึงสภาพปัญหา และอุปสรรคในการปฏิบัติงานของอุทยานในช่วงที่ผ่านมา ว่ามีทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เรื่องการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เรื่องท่าเทียบเรือที่มีขนาดเล็กไม่ได้มาตรฐาน หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ รวมทั้งเรื่องการที่มีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นที่ ต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และต่อการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พุทธศักราช 2504 เนื่องจากมีพื้นที่ชุมชนจำนวนมากถึง 6 ตำบล 20 หมู่บ้าน อยู่ใน และรอบเขตอุทยาน
ทั้งนี้ นอกจากชาวบ้านเหล่านี้จะก็มีความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นแล้ว กลุ่มนายทุนเองก็มีความต้องการที่ดินเพื่อประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน ขณะที่นโยบายของรัฐก็ขาดความต่อเนื่อง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร จึงทำให้พื้นที่ในเขตอุทยานเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก หรือยึดถือครอบครองทำประโยชน์ จึงเสนอให้บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดโดยเคร่งครัด รวมทั้งจัดพื้นที่คุ้มครองโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ พร้อมลาดตระเวน ป้องปราม ป้องกันพื้นที่คุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง
นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนได้สั่งให้คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของอุทยาน ทั้งในเขตอำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย จากนั้นให้เรียกประชุมคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้ง และทำการชี้แจงทำความเข้าใจกับบทบาทหน้าที่ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
นอกจากนั้น ยังสั่งให้คณะทำงานจัดทำแผนการบริหารในแต่ละด้านอย่างต่อเนื่องถึง 5 ปี และที่สำคัญ การดำเนินงานต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่หยุดชะงัก และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระหว่างอุทยาน กับ อบต.ไม้ฝาด เจ้าของพื้นที่ รวมไปถึงอำเภอ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ต้องทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันได้
นอกจากนี้ ทางจังหวัดตรังยังได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมท่าเทียบเรือปากเมง โดยเฉพาะการทำหลังคา โป๊ะลอยน้ำขนาด 2x8 เมตร และอาคารที่พัก ซึ่งใช้งบประมาณ 200,000 บาท และให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ทันต่อการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวใหม่ประจำปี 2556 รวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบการจอดเรือ เนื่องจากถูกคลื่นซัดเรือไปกระแทกกับท่าเทียบเรือ จนทำให้สะพานได้รับความเสียหาย