xs
xsm
sm
md
lg

พัทลุงประกาศภัยแล้ง 3 อำเภอ นาข้าวยืนต้นตายแล้ว 3 หมื่นไร่ สวนผลไม้-โคนมกระทบหนักจากภาวะขาดน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาข้าวแตกระแหง
พัทลุง - พัทลุงประกาศภัยแล้ง 3 อำเภอ หลังฝนทิ้งช่วง นาข้าวยืนต้นตายแล้วกว่า 3 หมื่นไร่ สวนผลไม้ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ขณะเดียวกัน โคนมก็ได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากขาดหญ้าสด ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลงอยู่ที่ 10 ตันต่อวัน เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำฝนเทียม

 
ผู้สื่อข่าวประจำ จ.พัทลุง รายงานว่า หลังจากที่ฝนได้หยุดตกติดต่อกันหลายเดือน ขณะนี้ ความแห้งแล้งได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว จนส่งผลให้นาข้าวในพื้นที่ อ.ควนขนุน อ.เมืองพัทลุง จำนวน 155 หมู่บ้าน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก นาข้าวจำนวนมากกำลังยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ถึงแม้ว่าทางองค์กรท้องถิ่น อำเภอ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันแก้ปัญหาในขั้นต้นโดยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในแปลงนา แต่ก็ทำได้ในพื้นที่ที่จำกัด เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้ำไม่เพียงพอ จนส่งผลให้ต้นข้าวในพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง อ.ควนขนุน ต้องยืนต้นตายไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่
ข้าวโพด็ยืนต้นตาย
มะนาวขาดน้ำ ลูกเล็ก แคระเกร็น
 
นายประภาส ขาวดำ รักษาการหัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในขณะนี้ จังหวัดพัทลุงได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 3 อำเภอ คือ อ.เมืองพัทลุง อ.ควนขนุน และ อ.ศรีบรรพต สำหรับความเสียหายของพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง และ อ.ควนขนุน นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่นาข้าว ส่วนพื้นที่ อ.ศรีบรรพต จะเป็นสวนผลไม้ และพื้นที่สวนยางพารา โดยเฉพาะสวนผลไม้นั้น เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.เขาปู่ ต.เขาย่า และ ต.ตะแพน จนส่งผลให้ต้นไม้ผล เช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด เงาะ ฯลฯ ต้องยืนต้นตายเพราะขาดน้ำเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้มีหนังสือด่วนไปยังหน่วยทำฝนเทียมใน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อมาทำฝนเทียมในพื้นที่ จ.พัทลุง หากสภาพโดยทั่วไปเอื้ออำนวยต่อการทำฝนเทียม และสภาพอากาศเหมาะสม การดำเนินการทำฝนเทียมก็สามารถดำเนินการได้ทันที

 
ด้านนายไพโรจน์ อินทรศรี ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จากการที่ฝนหยุดตกทิ้งช่วงกันหลายเดือนนั้น ขณะนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคนม และโคพื้นเมือง ได้รับความเดือดร้อนแล้วหลายพื้นที่ เนื่องจากแปลงหญ้าเหี่ยวตายเป็นจำนวนมาก ในส่วนของโคนมนั้น ได้เริ่มส่งผลกระทบแล้ว จากผลผลิตที่ผลิตได้ประมาณ 11 ตันต่อวัน ขณะนี้ลดลงเหลือแค่ 10 ตันต่อวัน

แปลงหญ้าสดของเกษตรกรที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงโคนมกำลังจะหมดไปในเร็วๆ นี้ หากอีก 1-2 สัปดาห์นี้ ฝนยังหยุดตก เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใน จ.พัทลุง ต้องเดือดร้อนอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกัน แปลงหญ้าในพื้นที่ อ.ศรีบรรพต และ อ.ตะโหมด ที่เตรียมไว้รองรับแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารสัตว์ก็กำลังเหี่ยวตายเพราะขาดน้ำเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น