xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อฮ่องกงยกเลิกเรืออวนลาก/ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

ในขณะที่กรมประมงไทย กำลังจะนิรโทษกรรมเรืออวนลาก หรืออนุญาตให้เรืออวนลากที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย จำนวนกว่า 2 พันลำ จนนำไปสู่การคัดค้านของชาวประมงพื้นบ้าน แต่ปรากฏว่า หลายประเทศได้ประกาศยกเลิกเรืออวนลากซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีการทำลายล้างมากที่สุด บทความนี้ จะนำเหตุผล รวมทั้งการเคลื่อนไหวของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงมาเล่าสู่กันฟัง

เรืออวนลากทำงานอย่างไร

ภาพดังกล่าว มาจากเอกสารขององค์กรที่ได้ระบุไว้แล้ว ปีกสองข้างที่ผูกติดกับเชือกทำจากโลหะที่มีน้ำหนักมาก (บางลำอาจหนักถึง 5 ตัน) ด้านล่างของประตูอวน ผูกติดกับวัตถุหนักที่ลากติดกับพื้นทะเล ในขณะที่อวนด้านบนจะผูกติดกับวัตถุแขวนลอย ทำให้ปากอวนเปิดกว้างได้ โดยทั่วไป ถุงอวนจะมีความสูงประมาณ 10-15 เมตร และกว้าง 30-60 เมตร ด้วยเหตุนี้ เรืออวนลากจึงครูดไปกับพื้นทะเลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ อวนชนิดนี้จึงจับสัตว์น้ำโดยไม่มีการคัดเลือกขนาด อายุ และชนิดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ รวมทั้งหญ้าทะเล และปะการัง (ดังภาพข้างล่างนี้แสดงภาพท้องทะเลก่อน และหลังเรืออวนลากผ่าน)

ชาวฮ่องกงเคลื่อนไหวอย่างไร และจะดีขึ้นอย่างไร

องค์กรอนุรักษ์ในระดับสากลที่มีชื่อย่อว่า WWF (World Wildlife Fund มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปหมีแพนด้า) ได้ทำการรณรงค์ให้ยกเลิกเรืออวนลากตั้งแต่ปี 2548 ในน่านน้ำฮ่องกง หลังจากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่า ปริมาณสัตว์น้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา

ผมไม่มีข้อมูลการลดลงของสัตว์น้ำในฮ่องกง แต่เรามาพิจารณาข้อมูลที่มาจากการสำรวจวิจัยของกรมประมงในอ่าวไทยเราเองดีกว่า ถ้าเทียบว่าในปี 2506 เราเคยจับสัตว์น้ำได้ 100% ต่อชั่วโมงลงแรง ปรากฏว่า ในปีต่อๆ มา กลับลดลงอย่างรวดเร็ว ทุกปีที่สำรวจ จนในปี 2549 เหลือเพียงร้อยละ 5 ของปี 2506 เท่านั้น

หลังจากการรณรงค์มาได้ 6-7 ปี ทางการฮ่องกงได้ออกประกาศเมื่อกลางปี 2554 ว่าจะยกเลิกเรืออวนลากทั้งหมด 400 ลำทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2555 นี้

“เรายินดี และสนับการยกเลิกในครั้งนี้ เพราะเป็นการทำประมงที่ทำลายอย่างมาก” โฆษกของ WWF ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว พร้อมกับกล่าวว่า “การกระทำครั้งนี้จะทำให้ประชากรของปลาที่มีค่าฟื้นกลับมา ภายใน 5 ปี ปลาจะมากขึ้นถึง 20-30% นี่เป็นการเริ่มต้นที่มีความสำคัญ แต่หวังว่า รัฐบาลฮ่องกงจะจัดการกับเรืออวนลากที่ผิดกฎหมายได้”

นอกจากนี้ งานวิชาการที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยบริติซ โคลัมเบีย แห่งแคนาดา พบว่า ภายใน 5 ปีหลังการยกเลิกเรืออวนลากแล้ว จำนวนประชากรของปลาที่มีขนาดใหญ่ในน่านน้ำฮ่องกง จะเพิ่มขึ้น 40-70% จากปัจจุบัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การรณรงค์ครั้งนี้ มีชาวฮ่องกงร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกถึง 6 หมื่นคน จากประชากรในเขตปกครองพิเศษ 7 ล้านคน ในขณะที่ขณะนี้ สมาคมรักษ์ทะเลไทยซึ่งร่วมรณรงค์เรื่องเดียวกัน ยังมีผู้ร่วมลงชื่อไม่ถึง 1 พัน จากประชากรเกือบ 70 ล้านคน

พูดถึงเรื่องนี้ ขออนุญาตออกนอกประเด็นนิดหนึ่งครับ ฮ่องกงเคยได้ชื่อว่าเป็นเขตที่มีการคอร์รัปชันสูงมากประเทศหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่า เขารณรงค์กันอย่างไร ปัจจุบัน ฮ่องกงเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความโปร่งใสสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยเรากลับแย่ลงกว่าเดิม

มาตรการที่ทางการฮ่องกงนำมาใช้ในการยกเลิกเรืออวนลากครั้งนี้ ก็คือ การจ่ายเงินชดเชยให้แก่เจ้าของเรือ และกะลาสีเรือด้วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ในตอนแรก มีแรงต้านมากมายในการยกเลิกเรืออวนลากในฮ่องกง” ดร.คอร์นีช ผู้อำนวยการ WWF ฮ่องกง กล่าวพร้อมกับเสริมว่า “แต่การสนับสนุนที่เราได้รับเพิ่มขึ้นจากชุมชนท้องถิ่น ได้แสดงให้เห็นว่า ชาวฮ่องกงมีความห่วงใย และรับรู้ต่อปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเขา และร่วมกันลงมือเคลื่อนไหว”

ในปี 2551 ชาวฮ่องกงเกือบ 6 หมื่นคน ร่วมลงชื่อกับคำเรียกร้องของ WWF เพื่อให้มีการจัดการประมงที่ยั่งยืนในน่านน้ำฮ่องกง และภายในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา การตอบสนองอย่างเข้มแข็งขึ้นทั้งจากหมู่นักวิชาการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักศึกษา และการรณรงค์สาธารณะเพื่อทำความเข้าใจ ชักชวนต่อผู้ที่มีส่วนในการออกกฎหมายเพื่อยกเลิกเรืออวนลาก

ผมขอจบเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงเพียงแค่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงผลกระทบในการทำประมงเชิงพาณิชย์ (ไม่เฉพาะแต่เรืออวนลาก) เพิ่มเติมอีกสองประเด็น คือ หนึ่ง จำนวนชนิดของอาหารทะเลได้สูญหายไปนับจากปี 2493 (1950) จนถึงปี 2547 (2004) ถึง 29% นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังคงเหมือนเดิม ทะเลทั้งโลกจะไม่มีสัตว์น้ำเหลืออีกเลยภายในปี 2048

สอง หากชาวโลกยังคงทำประมงแบบเดิม ในอนาคต ปลาที่จับได้จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ทั้งจำนวน และชนิดพันธุ์ และเมื่อวันนั้นมาถึง เราอาจจะเหลือแต่แพลงก์ตอน แล้วคนไทยเราอาจจะต้องสั่ง “ต้มยำแพลงก์ตอน” แทนต้มยำกุ้ง ต้มยำปลาก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น