ระนอง - ศปชล.ทพ. จัดระเบียบเรือประมงที่ได้สัมปทานพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ต้องรายงานเรือเข้า-ออกพื้นที่ เก็บข้อมูลเรือ นำไปจัดทำระบบให้เป็นมาตรฐานต้นแบบ และจะขยายผลในกลุ่มเรือประมงประเภทอื่นๆ ต่อไป
ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย-พม่า (ศปชล.ทพ.) ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “โครงการต้นแบบจัดระเบียบเรือประมงเพื่อความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดระนอง กลุ่มเรือสัมปทาน” ณ โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวอชั่น จังหวัดระนอง
น.อ.เคารพ แหลมคม ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย-พม่า กล่าวว่า เรือประมงในพื้นที่จังหวัดระนอง ที่ทำประมงอยู่นอกน่านน้ำ เฉลี่ยเดือนละ 107 ลำ ส่วนที่ทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย เฉลี่ยประมาณวันละ 88 ลำ ซึ่งปัญหาหลักของเรือประมงเหล่านี้ก็คือ ถูกเรือรบพม่าไล่จับกุม บางลำถูกไถน้ำมันกลางทะเล ถูกโจรสลัดปล้นยึดเรือ และประสบภัยทางทะเล
จากปัญหาดังกล่าว ศปชล.ทพ. จึงได้พิจารณาจัดทำโครงการต้นแบบจัดระเบียบเรือประมงเพื่อความปลอดภัย ในพื้นที่จังหวัดระนองขึ้น โดยการให้เรือประมงรายงานการเข้า-ออกบริเวณที่กำหนด เพื่อจัดทำฐานข้อมูลไว้สำหรับติดตามข่าวสารของเรือประมงที่ได้สัมปทานในประเทศพม่า อีกทั้งยังไว้เป็นหลักฐานยืนยันเมื่อถูกจับกุมกรณีรุกล้ำน่านน้ำ และให้ความคุมครองช่วยเหลือเมื่อมีเหตุการณ์ในทะเลอย่างทันท่วงที
ด้านประมงจังหวัดระนอง นำระบบระบุตำแหน่งเรือประมง Vessel Monitoring System (VMS) ซึ่งเป็นระบบส่งสัญญาณจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งบนเรือ ไปยังหน่วยรับข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการ และเจ้าของเรือที่อยู่บนฝั่ง ข้อมูลที่ได้จะบอกถึงตำแหน่งเรือปัจจุบัน ความเร็ว เส้นทางเดินเรือย้อนหลัง ซึ่งเป็นโครงการนำรองที่ทางประมงจังหวัดนำมาทดลองใช้ตั้งแต่ปี 2554 ให้แก่เรือประมงไทยที่มีความยาวเรือตั้งแต่ 14 เมตรขึ้นไป แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะผู้ประกอบการไทยบางรายยังทำการประมงแบบผิดกฎหมายอยู่
ในส่วนของประเทศพม่า ก็มีมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงชายแดน โดยได้กำหนดโครงการที่จะให้เรือที่เข้าไปทำการประมงในน่านน้ำพม่า ต้องติดตั้งระบบ VMS นี้ด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่