xs
xsm
sm
md
lg

กุดหัว ‘ศอ.บต.’ แล้วให้ ‘กอ.รมน.’ กินรวบ ไม่ใช่หนทางดับไฟใต้/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

ปกติ เวลาผมเขียนคอลัมน์เรื่องความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจะไม่รู้สึก “เกร็ง” หรือ “เครียด” กับเรื่องที่ตัวเองเขียน เพราะเป็นการเขียนถึงข้อเท็จจริง เขียนตามความรู้สึก และเขียนจากการที่ได้เห็น ได้สัมผัส และพูดคุยกับคนในพื้นที่หลากหลายสาขาอาชีพ และการเขียนหนังสือถึงปัญหาทุกปัญหา ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการสะท้อนข้อเท็จจริงไปสู่สาธารณะ และหากเป็นได้ ต้องการที่จะ “สื่อ” ไปยังรัฐบาล ไปยังกองทัพ และทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดับไฟใต้

แต่หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกมาติติงว่าคอลัมนิสต์ที่เขียนถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพวก “นักรบด้วยปาก” เป็นการบั่นทอนกำลังใจของทหาร และเป็นการให้เครดิตโจร ผมจึงชักมีอาการเกร็งๆ เมื่อเขียนถึงปัญหาความไม่สงบในปลายด้ามขวาน เพราะผมไม่แน่ใจว่า ผมเองเป็นหนึ่งใน “นักรบด้วยปาก” อย่างที่ท่าน ผบ.ทบ.ได้ออกมากล่าวอ้างหรือไม่

แต่เอาเถอะ!! ไม่ว่าเป็น หรือไม่เป็น ถ้าสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นอยู่อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผมคงยอมที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็น “นักรบด้วยปาก” อย่างไม่แก้ตัว เพราะสิ่งที่ได้เขียนไปเป็นเพราะต้องการเห็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และต้องการเห็นความสงบสุขกลับมาสู่ดินแดนปลายด้ามขวาน ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในหุ้นส่วน 1 หุ้นของประเทศไทยเท่าๆ กับทุกๆ คนที่ถือบัตรประชาชนไทย

และวันนี้ ผมคงจะสะท้อนปัญหาเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการประชุมเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นที่ส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นที่ กอ.รมน. หรือที่ไหนก็ยังไม่ชัด แต่โดย “นัย” ที่ได้ฟังมาจากข่าว ทราบว่า จะมีการทำให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นเหมือน “เพนตากอน” ของประเทศ

โดยจะรวบรวมเอาเสนาบดีจากฝ่ายการเมือง เช่น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ พร้อมด้วย “ขุนทหาร” ในกองทัพที่มีหน้าที่โดยตรง และจะมีการดึงเอาเหล่าเสนาบดีจาก 17 กระทรวงเข้ามาร่วมบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาการเข่นฆ่าด้วยวิธีการวางระเบิด ซุ่มโจมตี ไล่ล่า ไล่ยิง โดยมี “เหยื่อ” เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนพลเรือน

โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงของเดือน “รอมฎอน” สถานการณ์ของ 3 จังหวัดใต้รุนแรงขึ้น เหมือนกับสถานการณ์ในปี 2550-2551 ที่มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยแล้ววันละ 9 คน และรัฐบาลต้องประกาศ “เคอร์ฟิว” ในบางพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ ก็คล้ายคลึงกัน และกองทัพก็เสนอทางออกในการแก้ปัญหาด้วยการประกาศ “เคอร์ฟิว” ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนทุกสาขาอาชีพ

โดยเฉพาะเสียงคัดค้าน และการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนของ “สภาที่ปรึกษาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” และ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบ “รวมศูนย์” ที่ “ส่วนกลาง” และมอบหมายให้ “แม่ทัพภาคที่ 4” ทำหน้าที่ซีอีโอ มีอำนาจบัญชาการทุกภาคส่วนราชการรวมทั้ง ศอ.บต.แบบ “เบ็ดเสร็จ” ซึ่งเรียกกันด้วยศัพท์ใหม่ให้สวยหรูว่า “บูรณาการ” แต่ที่แท้จริงแล้ว เป็นการรวมอำนาจในการแก้ปัญหาแบบ “เผด็จการ” ต่างหาก

การตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือจะเรียกให้สั้นๆ ว่า “ศูนย์ดับไฟใต้” หากรัฐบาล และกองทัพเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นประโยชน์ ก็ตั้งไปเถอะครับ เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในประเทศจะให้คำตอบเองว่า มีประโยชน์หรือไม่ เพราะเชื่อล่วงหน้าว่า หลังจากมีศูนย์ดับไฟใต้แล้ว ไฟใต้ยังจะลุกโชนเหมือนเดิม เพราะการจัดการปัญหา และการแก้ปัญหาไฟใต้แบบ “รวมศูนย์” และ “สั่งการ” มาจาก “ข้างบน” จะไม่แก้ปัญหาความรุนแรงได้เลย

เพราะปัญหาการก่อการร้ายที่ปลายด้ามขวานนั้น “เหตุเกิดที่หมู่บ้าน ชัยชนะต้องมาจากหมู่บ้าน” แต่ 8 ปีที่ผ่านมา กองทัพซึ่งเป็น “เจ้าภาพ” ในการดับไฟใต้ ได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีมาหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่การจัดตั้ง “กอ.สสส.จตช.” จนถึง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” มีการปรับยุทธวิธี และนโยบายไปแล้วกว่า 4 ครั้ง แต่จากการที่การยอมรับกับประชาชนทั้งประเทศว่า “เกิดความผิดพลาด” ในนโยบาย และยุทธวิธีที่นำมาใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

และเมื่อผิดพลาด ต้องแก้ไข และต้องหาที่มีของความผิดพลาด อย่าได้กล่าวอ้างว่าการแก้ปัญหายุ่งยากเพราะมี พ.ร.บ. 2 ฉบับที่ใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งเป็นของกองทัพ และ พ.ร.บ.ศอ.บต. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ถ้า พ.ร.บ.ศอ.บต. กลายเป็น “ก้าง” ให้ กอ.รมน.ทำงานลำบาก ทำไม่ในครั้งที่ ศอ.บต.ถูกยุบ และในครั้งที่ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับ กอ.รมน. เป็นเวลา 7 ปี กองทัพ และ กอ.รมน.จึงไม่ประสบความสำเร็จในการดับไฟใต้

วันนี้ พ.ร.บ.ศอ.บต.มีการประกาศใช้มาปีเศษ ถ้าไปสอบถามถึงความพึงพอใจของคนในพื้นที่การสู้รบ ไปสอบถามผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ภาคเอกชน และข้าราชการในพื้นที่ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับวิธีการของ ศอ.บต. และเห็นถึงผลงานต่างๆ ในด้านการพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม และอื่นๆ

ดังนั้น การกล่าวอ้างว่า พ.ร.บ.ศอ.บต.ขัดขวางการทำหน้าที่ดับไฟใต้ของ กอ.รมน. จึงน่าจะเป็นการกล่าวจากความรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ต้องการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการปฏิบัติหน้าที่ มากกว่าข้อเท็จจริง

เพราะโดยข้อเท็จจริง ถ้ากองทัพทำหน้าที่ในการรักษาอธิปไตย รักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลหน่วยงานราชการพลเรือน 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ และทำงานด้านการพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม และอื่นๆ ตามภารกิจของ พ.ร.บ.ศอ.บต.ที่กำหนดไว้ชัดเจน โดยทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.ยึดเอา ยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.เป็นหลัก

การร่วมกันเดิน “สองขา” โดยไม่มีการ “ขัดขา” กันเอง การแก้ปัญหาความไม่สงบก็จะเดินไปได้ด้วยดี

โดยข้อเท็จจริง การแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “กพต” ไปแล้ว ลักษณะของ กพต.เหมือนกับ ครม.น้อยของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีตัวแทนจากทุกกระทรวงทบวงกรมเข้าร่วมประชุมพิจารณาปัญหา ความจำเป็น ความต้องการในทุกเรื่อง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม ซึ่งน่าจะไม่แตกต่างนักกับ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่กำลังตั้งขึ้นมาใหญ่ อาจจะต่างกันที่ “กพต.” ไม่มีกองทัพมาทำหน้าที่ชี้เป็นชี้ตายเท่านั้น

การดับไฟใต้ในวันนี้ ปัญหาไม่ใช่ไม่มีการตั้ง “ศูนย์ดับไฟใต้” ที่ส่วนกลาง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “เอกภาพ” แต่ปัญหาอยู่ที่กำลังของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 100,000 กว่านาย รวมทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ไม่สามารถคุ้มครองสถานที่ราชการ เช่น โรงเรียน และอื่นๆ ให้รอดพ้นจากการถูกวางเพลิง ไม่สามารถคุ้มครองบริษัทห้างร้าน สถาบันการเงิน สิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้รอดพ้นจากการทำลาย ไม่สามารถคุ้มครองวัด พระภิกษุ และสุดท้าย ไม่สามารถแม้แต่คุ้มครองฐานปฏิบัติการ อาวุธ และชีวิตของเจ้าหน้าที่เอง

ปัญหามันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ทำอย่างไร “การข่าว” ของเจ้าหน้าที่จึงจะรู้เขา รู้เรา รู้ว่าอาร์เคเคอยู่ตรงไหน ใครคือแกนนำ ใครคือผู้สั่งการในแต่ละพื้นที่ ใครคือเสนาธิการในการวางแผน และวางแผนจะก่อเหตุร้ายที่ไหน อย่างไร เพื่อที่จะสามารถป้องกันได้ทันที และต้องรู้ว่า “คาร์บอมบ์” จำนวนหลายสิบคันที่ออกข่าวอยู่ทุกวัน ถูกซ่อนอยู่ที่ไหน ต้องควบคุมยานพาหนะอย่างไร ควบคุมเส้นทางอย่างไร ต้องจัดจุดตรวจ จุดสกัดตรงไหนบ้าง ต้องมีด่านตรวจแบบด่านลอยหรือไม่ หรือต้องมีแผนปฏิบัติการเชิงรุกอย่างไร และเมื่อถูกโจมตีต้องจัดกำกังสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือให้ทันท่วงทีอย่างไร จึงจะไม่สูญเสียแบบซ้ำซากอย่างที่เกิดขึ้น

จะพบว่า ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่พื้นที่ อยู่ที่ “อาเยาะ” ในหมู่บ้านที่เป็นต้นเหตุในการวางแผน สั่งการให้ก่อการร้าย ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาต้องเริ่มแก้ที่หมู่บ้าน ต้องสร้างชัยชนะให้เกิดที่หมู่บ้าน เพราะฝ่ายตรงข้ามยึดหมู่บ้านได้ และสถาปนาความเข้มแข็งในหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นฐานมวลชน และเป็นฐานทางทหาร เพื่อสู้รบกับเจ้าหน้าที่รัฐ

การประกาศ “เคอร์ฟิว” ก็ดี การ “จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ก็ดี การทำแผนใช้ “อากาศยาน” ในการร่วมรักษาความสงบก็ดี การที่จะ “ลดบทบาท ศอ.บต.” เพื่อให้มีการใช้ “พ.ร.บ.การรักษาความสงบภายในก็ดี” หรือการไปดึงเอา “โออีซี” เข้ามาช่วยเหลือก็ดี ล้วนเป็นสิ่งปลีกย่อยของวิธีคิดในการดับไฟใต้ทั้งสิ้น

เพราะถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาภายในของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่ประกอบด้วยกำลังจากกองทัพภาค 1 ภาค 2 และภาค 3 เพื่อให้มีศักยภาพในการให้ความคุ้มครองประชาชน และคุ้มครองตนเองได้ ต่อให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการดับไฟใต้” อีกกี่ครั้งก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น และไม่ได้ช่วยกอบกู้วิกฤตศรัทธาที่ประชาชนในดินแดนด้ามขวานมีต่อกองกำลังของกองทัพแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น