xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนตรังคิดค้นใช้ยางใน จยย.เก่าแก้ปัญหากรีดยางช่วงหน้าฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง - เจ้าของสวนเกษตรดีเด่น อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง คิดค้นนวัตกรรมจากยางในรถจักรยานยนต์มาเพื่อแก้ปัญหาการกรีดยางพาราช่วงฤดูฝน โดยทำได้ง่าย และยังมีราคาถูกอีกด้วย

นายสมคิด คงเสรีนนท์ หรือโกกิม เจ้าของไร่อ่างทอง วัย 61 ปี เจ้าของรางวัลสวนเกษตรดีเด่น จากกรมส่งเสริมการเกษตร และศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรดีเด่น ประจำอำเภอสิเกา กล่าวว่า ขณะนี้ ตนได้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาสำหรับเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาการกรีดยางพาราในช่วงฤดูฝน เนื่องจากปีนี้ จะมีฝนตกลงมาค่อนข้างชุก และสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่กรีดยางพาราเสร็จแล้ว และรอน้ำยางไหลลงจอกยาง หรือถ้วยยาง แต่จู่ๆ ก็เกิดฝนตก จนทำให้น้ำไหลลงสู่จอกยางแทน

ดังนั้น ตนจึงได้ทดลองนำยางในรถจักรยานยนต์ที่ทิ้งแล้วมาผ่าครึ่งออก แล้วตัดให้เป็นแผ่นๆ ขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งยางในรถจักรยานยนต์ 1 เส้น จะสามารถตัดออกมาได้ประมาณ 10 แผ่น แล้วนำไปติดเข้ากับต้นยางพาราในลักษณะแนวขวาง และให้อยู่เหนือกว่าหน้ายางที่กรีดประมาณ 1 คืบ โดยใช้เครื่องยิงบอร์ด หรือแม็กยิงขนาดตัวเล็ก ยิงลงไปที่ริมยางในรถ ทั้งซ้ายและขวา ในลักษณะแนวขวาง เพื่อยึดให้ติดแน่น ส่วนสาเหตุที่ใช้ลูกแม็กตัวเล็ก ก็เพื่อมิให้ทะลุถึงเนื้อต้นยางพารา

สำหรับวิธีการดังกล่าวนี้ แทบจะไม่ใช้ต้นทุนอะไรเลย เพราะยางในรถจักรยานยนต์ก็สามารถขอได้จากร้านซ่อมรถทั่วไป ส่วนแม็กยิงแม้จะมีราคาเกือบ 1 พันบาท แต่ซื้อมาครั้งเดียว สามารถใช้ได้นานหลายปี ขณะที่ลูกแม็กก็มีราคาไม่แพง ซึ่งถูกกว่าการใช้หมวกกันฝน ที่มีราคาถึงใบละ 80 บาท โดยสวนยางพาราแบบผสมสนานของตน ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายตรัง-สิเกา หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ฝาด ใกล้กับน้ำตกอ่างทอง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 1,400 ต้น แต่กลับใช้เงินแค่ 1,000 กว่าบาท แต่หากซื้อหมวกกันฝน ต้องใช้เงินกว่า 1 แสนบาท

ปัจจุบัน สวนยางพาราของตนที่ใช้นวัตกรรมยางในรถจักรยานยนต์ สามารถช่วยป้องกันน้ำฝนไหลลงสู่จอกยางได้เป็นอย่างดี โดยที่เกษตรกรไม่ต้องรู้สึกกังวลต่อความสูญเสีย ทั้งในขณะกำลังกรีด หรือได้กรีดยางพาราเสร็จสิ้นไปแล้ว และยังช่วยให้หน้ายางที่ต้องกรีดในช่วงหน้าฝน ไม่ประสบกับปัญหาโรคเน่าเสียที่มักจะเกิดขึ้นในสวนอื่นทั่วไป ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยรักษาต้นยางพาราให้เจริญเติบโตอยู่คู่กับเกษตรกรได้อย่างยาวนาน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 08-1326-7472
กำลังโหลดความคิดเห็น