ปัตตานี - แม่ทัพภาค 4 พบแกนเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิเพื่อนหญิง เพื่อรับฟังปัญหา พร้อมยื่น 6 ข้อเสนอแนะในการดับไฟใต้
เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เป็นประธานในการร่วมประชุมพบปะกับเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิเพื่อนหญิง ในประเด็น “รับฟังเสียงสะท้อนผู้หญิง เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
โดยมีแกนนำสตรีที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพฯ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม 38 คน ซึ่งนำโดย นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลงานการทำงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน และข้อเสนอแนะในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ที่สำคัญ มี 6 ข้อ คือ
1.สนับสนุนนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ขอให้มีการปราบปรามอย่างจริงจังกับผู้ที่กระทำสิ่งผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ค้ายาเสพติด ค้าน้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี 3.รัฐต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือเขตปลอดอาวุธให้กแก่เด็ก ผู้หญิง เช่น เจ้าหน้าที่ทหารไม่ควรไปจัดตั้งฐานปฎิบัติการในย่านชุมชน โรงเรียน วัด มัสยิด
4.ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศกับสตรีมุสลิม ขอให้ทางกองทัพภาคที่ 4 ได้กำชับแจ้งเตือนไปยังกองกำลังที่ปฎิบัติงานในพื้นที่ได้ระมัดระวังอย่างจริงจัง 5.เพื่อเป็นการป้องกันเหตุซ้ำซาก ควรจะมีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารก่อนที่จะมาปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เพื่อให้เข้าใจในบริบททางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และบทบาทหญิงชายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเจตคติที่มีต่อผู้หญิง และ 6 รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณให้กับกลไกการทำงานขององค์กรภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานด้านเยียวยา กลุ่มครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทั้งภาครัฐ และประชาชน ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งตรงกับแนวทางการทำงานของเครือข่ายถือว่า เป็นแนวทางที่ตรงกัน สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ซึ่งผมเข้าใจว่าเราจะต้องชี้แจง พูดจา ทำความเข้าใจต่อไป กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มแทรกซ้อน เป็นกลุ่มที่ทำสิ่งผิดกฏหมายทั้งหลายซึ่งต้องการให้เกิดความรุนแรง
“ที่ผ่านมา เราไม่เคยท้อแท้ในการแก้ปัญหา และเราจะต้องทุ่มเทในการทำงานต่อไป จะดูแลประชาชนให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และจะทำสุดความสามารถเพื่อนำสันติสุขกลับมา” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว