พะเยา - กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จับมือหลายหน่วยงานทำ MOU แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์เมืองกว๊านฯ พบปัญหาความรุนแรงในเด็ก-สตรีสูง แม้แต่เด็กในสถานสงเคราะห์ยังถูกล่วงละเมิดทางเพศจนต้องสั่งปิดแล้ว 2 แห่ง เตือนหญิงไทยระวังขบวนการหาหญิงแต่งงานกับต่างชาติ สุดท้ายปลายทางคือการค้ามนุษย์
วันนี้ (17 ส.ค.) ที่โรงแรมพะเยาเกทเวย์ อ.เมือง จ.พะเยา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพะเยา เช่น สำนักงานอัยการจังหวัด, ตำรวจภูธรจังหวัด, บ้านพักเด็กและสตรีจังหวัด ปกครองจังหวัด ฯลฯ ได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว
ตามโครงการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัวของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การทำงานของสหวิชาชีพมีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ มีการประสานงานที่ดี เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านนางสาวราณี วงศ์ประจวบลาภ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพะเยา กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการกระทำต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวของจังหวัดพะเยามีความรุนแรงค่อนข้างมาก และไม่ได้ถูกนำขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง มีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำแท้ง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
นอกจากนี้ยังพบว่า ขณะนี้ในจังหวัดพะเยามีขบวนการค้ามนุษย์ที่มีการจัดหาหญิงสาวชาวไทยไปสมรสกับชาวต่างชาติ แต่สุดท้ายปลายทางกลับเป็นการค้ามนุษย์ จึงขอเตือนหญิงสาวให้ระวังขบวนการที่มีพฤติกรรมดังกล่าวด้วย
ขณะเดียวกัน จังหวัดพะเยาได้มีการสั่งปิดสถานสงเคราะห์แล้วรวม 2 แห่ง เนื่องจากพบว่าเปิดสถานสงเคราะห์โดยผิดกฎหมาย, มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในสถานสงเคราะห์ และการทำอนาจารเด็ก
สำหรับการแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิเด็ก, พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว และ พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ในพื้นที่นั้น ทางจังหวัดมีทีมสหวิชาชีพ, เครือข่ายชุมชน, แกนนำสตรี ที่ทำงานกับครอบครัวเพื่อรับทราบปัญหาความรุนแรงก่อนส่งต่อให้ทีมสหวิชาชีพในระดับอำเภอหรือผ่านสายด่วน 1300 ของ พม.รวมถึงทีมบ้านพักเด็กฯ และทีม พมจ.พะเยา เข้าไปทำงานแก้ไขปัญหาตามกระบวนการจนเสร็จสิ้น
ด้าน พรสม เปาปราโมทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2553 พบว่ามีเด็กและสตรีกว่า 20,000 รายเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการกระทำความรุนแรงทางร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศ เฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 71 รายต่อวัน โดยพบว่าปัญหามีความซับซ้อนพัวพัน จึงมีการนำ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับมาใช้ร่วมกันและมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างคือการลงนาม MOU ในวันนี้ ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนง่ายขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การทำงานดังกล่าวจะมีทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยจะมีการประกาศให้ทุกจังหวัดมีพื้นที่ปลอดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอย่างน้อย 3 อำเภอต่อจังหวัด