โดย...เมือง ไม้ขม
“คาร์บอมบ์” กลางใจเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยมีเป้าที่ บริษัท โปรคอมพิวเตอร์ แอนด์ โอเอ ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นตึก 4 คูหา 4 ชั้น ที่ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุดใน อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจติดชายแดนประเทศมาเลเซีย แม้จะมีเพียงผู้บาดเจ็บโดยไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ได้สร้างความเสียหายอย่างแรงต่อความเชื่อมั่นของอำนาจรัฐ และทำลายเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับ “คาร์บอมบ์” ที่ใต้ถุนโรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ และย่านธุรกิจการค้า ถนนรวมมิตร เทศบาลนครยะลา เมื่อ 2 เดือนก่อน
และเหตุการณ์ทั้ง 3 เหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในตัวเมือง และย่านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น “ไข่แดง” ของพื้นที่ เป็นที่ชัดเจน โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้นว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2555 เปลี่ยนจากการก่อความไม่สงบ มาเป็นการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ รวมทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องรับความจริงเพื่อที่จะได้รับมือกับสถานการณ์ และที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ถูกต้อง
เพราะการที่รัฐไม่ยอมรับความเป็นจริงใน 2 เรื่อง คือ 1.สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการพยายามแบ่งแยกดินแดนโดยขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต 2.ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้าย จึงทำให้การรับมือกับฝ่ายตรงข้ามไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงของสถานการณ์ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับว่า ณ พ.ศ.นี้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การก่อการร้าย ทุกหน่วยงานต้องปรับแผนในการใช้กฎหมาย ใช้ยุทธการ และงานการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง
เพราะรัฐไม่ยอมรับความจริง “คาร์บอมบ์” ที่เกิดขึ้นที่กลางเมืองสุไหงโก-ลกครั้งล่าสุด จึงทำให้ประชาชนเห็นว่า หน่วยงานของรัฐอ่อนแอไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เหมือนกับว่าพื้นที่แห่งนี้ ได้สูญเสียอำนาจรัฐไปแล้ว เพราะเส้นทางที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสุไหงโก-ลกนั้น มี 3 เส้นทางเข้า-ออก เส้นทางที่ 1 จาก อ.ตากใบ ก่อนจะเข้าสู่ตัวเมืองสุไหงโก-ลก ที่ด่านตรวจสำคัญ 2 แห่ง นั่นคือ จุดตรวจมูโน๊ะ และจุดตรวจซุ้มประตูเมือง
เส้นทาง อ.สุไหงปาดี เข้าสู่ตัวเมืองสุไหงโก-ลก มีจุดตรวจโคกสยา และจุดตรวจโรงเรียนบูรณราษฎร์ และเส้นทางสุดท้าย จาก อ.แว้ง เข้าสู่ อ.สุไหงโก-ลก มีอีก 2 จุดตรวจ คือ จุดตรวจบ้านสามแยก และจุดตรวจตันหยงมะลิ ซึ่งจุดตรวจทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของ ฉก.36 คำถามที่ภาคประชาชนถามมาตลอดระยะเวลาหลายปี ที่เกิดเหตุร้ายหลายสิบครั้งใน อ.สุไหงโก-ลก คือ คนร้าย และรถยนต์ที่เป็น “คาร์บอมบ์” ผ่านจุดตรวจเหล่านี้อย่างไร
และที่สำคัญกว่านี้ คือ ก่อนที่จะมีเหตุ “คาร์บอมบ์” ครั้งนี้ หน่วยข่าวได้แจ้งเตือนให้เมืองเศรษฐกิจทุกแห่งระวังป้องกัน “คาร์บอมบ์” โดยที่ จ.นราธิวาส มีการแจ้งที่ชัดเจนว่า อาลาวุดดิน โซ๊ะโก และอาริส โซ๊ะโก 2 พี่น้อง แกนนำระดับสั่งการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ สุไหงปาดี มีการร่วมมือกับ นัสรี มือรี แนวร่วมที่แหกห้องขังไปได้เมื่อหลายปีก่อน มีแผนที่จะ “คาร์บอมบ์” ในพื้นที่ของ อ.สุไหงโก-ลก และอีกหลายจุดของ จ.นราธิวาส เมื่อมีการแจ้งเตือนแล้วทำไมหน่วยงานทุกหน่วยทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือนจึงไม่มีแผนรับมือที่รัดกุม
โดยข้อเท็จจริง เป้าหมายของ “คาร์บอมบ์” ในตัวเมืองสุไหงโก-ลก ไม่ได้ “ล็อก” เป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะต้องเป็น บริษัทโปรคอมพิวเตอร์ฯ แต่เป้าหมายแรกเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน แต่คนร้ายไม่สามารถจอดรถที่หน้าธนาคารได้ เพราะ รปภ.ของธนาคารไม่ยอมให้จอด ดังนั้น บริษัทโปรคอมพิวเตอร์ฯ จึงเป็นเป้าหมายอันดับ 2 ของการทำ “คาร์บอมบ์” ในครั้งนี้
เหตุผลที่ “แกนนำ” สั่งให้ “แนวร่วม” เลือกเป้าหมายการก่อการร้ายต่อสถาบันการเงิน บริษัทห้างร้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะต้องการทำลายระบบเศรษฐกิจการค้าที่เป็นของคนไทยพุทธ และคนไทยเชื้อสายจีน เพื่อเป็นการขับไล่ทางอ้อมให้มีการอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อ 7 วันที่ผ่านมา “แนวร่วม” มีการวางระเบิดตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ ทั้ง 4 แห่ง พร้อมๆ กันใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งแผนการของ “บีอาร์เอ็นฯ” ประสบผลสำเร็จ เมื่อ 8 ปี ที่ผ่านมา คนไทยพุทธคนไทยเชื้อสายจีนโยกย้ายอพยพออกจากพื้นที่ 3 จังหวัด ไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
“คาร์บอมบ์” กลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐ คือ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนยังอยู่ในลักษณะไม่ตื่นตัว ไม่มีการใช้มาตรการป้องกันในอนาคตความสูญเสียจะมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรายงานข่าวจากหน่วยข่าวได้แจ้งให้ทราบว่า “บีอาร์เอ็นฯ” ได้ส่งแนวร่วมในพื้นที่ ซึ่งเป็นนักศึกษาอาชีวะที่มีพื้นฐานในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์จำนวนหนึ่งไปฝึกการก่อการร้ายในประเทศที่ 3 จำนวนถึง 10 รุ่นๆ ละ 20 คน และได้เดินทางกลับเข้าพื้นที่เพื่อปฏิบัติการก่อวินาศกรรม
โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอู่ซ่อมรถยนต์ มีเต็นท์รถยนต์มือสองกระจายอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอกว่า 200 แห่ง ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐไม่เคยสนใจที่จะมีมาตรการในการจัดระเบียบ หรือควบคุมอู่รถยนต์ เต็นท์รถยนต์มือสอง เพื่อป้องกันเหตุร้าย ทั้งที่รู้กันดีว่ารถยนต์ที่โจรกรรมมา และใช้เป็นพาหนะในการโจมตีเจ้าหน้าที่ ในการฆ่าประชาชน และในการประกอบ “คาร์บอมบ์” อยู่ในอู่ซ่อมรถ และเต็นท์รถเหล่านี้ รวมทั้งอู่รถเต็นท์รถจำนวนหนึ่ง คือ ผลผลิตของ “แนวร่วม” และขบวนการค้ายาเสพติดที่สนับสนุน “เม็ดเงิน” ให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่ทราบเพราะเหตุผลอะไร กอ.รมน.จึงไม่มีแผนในการจัดระเบียบอู่รถ เต็นท์รถ และควบคุมยานพาหนะ ควบคุมอาวุธในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สถานการณ์การก่อการร้ายย่างเข้าปีที่ 9 เป็น 9 ปี ที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่มีความรู้สึกว่ายิ่งนานอำนาจรัฐที่มีอยู่ยิ่งสูญเสีย ยิ่งนานประชาชนยิ่งว้าเหว่ เพราะพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาความไม่สงบ ที่เห็นชัดเจน คือ งบประมาณที่มากขึ้น กองทัพภาคที่ 4 ได้เพิ่มกองพลที่ 15 เพื่อมาแทนที่กำลังจากกองทัพภาค 1-2 และ 3 ซึ่งจะถอนออกไปในอนาคต และกำลังอยู่ระหว่างที่จะขอให้มีกองทัพน้อยที่ 4 เพื่อรับมือกับสถานการณ์ก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับงบประมาณเพิ่มกองบังคับการอีก 3 บก. ฝ่ายปกครองได้รับอัตราอาสาสมัคร เพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง และวันนี้ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี ศอ.บต. เป็นหน่วยงานฝ่ายพลเรือนที่มีอำนาจ มีงบประมาณในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลับตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนว่า 8 ปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างได้ในสิ่งที่ต้องการ ในขณะที่ประชาชน และพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ยังไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ นั่นคือ ความสงบที่มาจากการทำหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่มีอยู่ และมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
ความรู้สึกเช่นนี้ คือ อันตราย และมีผลต่อความพ่ายแพ้ต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ ดังนั้น รัฐบาลซึ่งมีกองทัพ มี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มี ศชต. และ มี ศอ.บต. เป็นเครื่องมือในการต่อสู่กับขบวนการก่อการร้าย จึงถอยกลับมาดูภารกิจของตนเอง และปรับยุทธวิธีให้ถูกต้อง เพื่อที่จะหยุดการก่อการร้ายด้วย “คาร์บอมบ์“ ให้ได้ เพราะนี่คือ ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้