ยะลา - ชาวบ้านไทยพุทธ-ไทยมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบกว่า 200 คน รวมตัวกันเรียกร้องรับสิทธิเยียวยา 7.5 ล้าน เทียบเท่ากรณีตากใบ-เสื้อแดง
วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่หน้าอาคารพระเศวตสุรคชาธาร สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา นางยินดี แซ่เง่า ประธานกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำกลุ่มชาวบ้านทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิม จำนวนกว่า 200 คน รวมตัวกันเดินทางไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ในกรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมทั้งขอคำชี้แจงในการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนที่เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมาด้วย โดยมี นายวีระนันท์ เพ็งจันทร์ นายอำเภอเมืองยะลา เดินทางมาพบปะกับกลุ่มชาวบ้าน
นางนาถนที ชูชาติ ตัวแทนชาวบ้านจาก จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ในการเดินทางมารวมตัวกันในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเกี่ยวกับพระ และชาวบ้านทั่วไป ทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบว่า รัฐบาลจะให้การช่วยเหลืออย่างไร
ซึ่งในกรณีของตนเอง ลูกชายที่เป็นพระ ชื่อพระสมุหชาตรี โดนระเบิดพร้อมกับพระธีระพงษ์ จากวัดสวนแก้ว ที่ ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา พระท่านเสียชีวิต พร้อมกับเจ้าหน้าที่ แต่ได้รับการช่วยเหลือจากทางรัฐแค่ 200,000 บาทเท่านั้น ชีวิตของพระได้รับการดูแลเท่านี้ แต่อีกฝ่ายได้รับถึง 7 ล้านบาท ทำไมถึงได้แตกต่างกัน
“พวกเราทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ที่โดนยิง โดนฆ่า โดนเผา ทำไมถึงได้รับการช่วยเหลือน้อยกว่า จึงต้องออกมารวมตัวกันเพื่อที่จะสอบถามไปยังท่านทวี สอดส่อง ว่าการพิจารณาเงินช่วยเหลือนั้นมีหลักเกณฑ์อะไร เพราะถ้าจะช่วยเหลือกัน รัฐให้ฝ่ายหนึ่ง 1 บาท อีกฝ่ายก็ต้องได้ 1 บาท เท่าเทียมกัน” นางนาถนทีกล่าว
น.ส.ชุตินธร ภูมิสมบัติ ตัวแทนชาวปัตตานีอีกรายกล่าวว่า สำหรับพระสมุหชาตรีซึ่งเสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่ อ.ยะหา จ.ยะลา นั้น ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต ก็เคยได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดมาแล้ว แต่ท่านก็ยังคงยืนยันว่า จะอยู่ในพื้นที่นั้น ไม่หนีไปไหน จนกระทั่งมาโดนระเบิดครั้งที่สอง แล้วเสียชีวิตไป ตนมองว่า การช่วยเหลือของทางภาครัฐน่าจะมากกว่านี้ นี่ก็เป็นแค่ 1 ตัวอย่างที่พวกเรารู้สึกว่ายังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับพี่น้องที่มารวมตัวกันวันนี้ ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน
“ตนเองยังอยากจะเรียนให้ท่านเลขา ศอ.บต. ทราบว่า ที่วัดขจรประชาราม หมู่ 1 ต.รูสะมีแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งมีพระจำวัดอยู่ 3 รูป ทุกวันนี้ ไม่กล้าออกไปบิณฑบาต เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ตนเองซึ่งอยู่ใกล้วัด ก็จะต้องไปดูแล อยากทราบว่า จะมีหน่วยงานใดเข้าไปดูแลบ้าง ทุกวันนี้ วัดขจรไม่ได้รับการดูแล พวกเราอยากได้คำตอบจากท่านเลขาธิการ ศอ.บต.” น.ส.ชุตินธรกล่าว
ด้านนางสังเวียน แก้ววิชิต ชาวบ้านจาก หมู่ 3 บ้านซาไก ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เปิดเผยว่า ตนเองเดินทางมาเพื่อเรียกร้องสิทธิให้เท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา สามีของตนเองถูกยิงเสียชีวิต นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยรับปากไว้ว่า จะให้บรรจุบุตรของตนเข้ารับราชการที่ จ.ยะลา แต่จนบัดนี้เกือบ 8 ปี ก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่เคยรับปากไว้ เวลาไปสอบอะไรก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษ รัฐไม่ได้ช่วยเหลืออะไร
หลังจากนั้น กลุ่มชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันเดินทางไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อขอความชัดเจนในกรณีดังกล่าว