xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ฯ สั่งหยุด “ตาปี-พุมดวง” ชี้รอศาลปกครองตัดสิน กรมชลฯ เมินลุยต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านบุกพบผู้ว่าฯ แจงความเดือดร้อน “ตาปี-พุมดวง” ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ฯ เรียกกรมชลฯ-เขื่อนรัชประภา-เกษตรฯ แจง หวั่นจ่ายเงินเวนคืนมีปัญหา หากยกเลิกโครงการ สั่งหยุดเดินหน้าชี้รอศาลปกครองตัดสิน ชลประทานเมินลักไก่ออกอุบายลุยต่อ

นายวิโรจน์ ทองเกษม คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ทนายความ สภาทนายความได้ลงพื้นที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์ และจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม หลังจากเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้รับฟ้องกรณีที่เครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ฟ้องกรมชลประทานให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ชาวบ้านประมาณ 200 คน ได้ไปพบนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่บ้านผู้ว่าฯ พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการฯ จากนั้น ผู้ว่าฯ ได้จัดสถานที่ให้ตัวแทนชาวบ้านนั่งคุย และได้นำเสนอให้ผู้ว่าฯ รับรู้ข้อมูลโครงการฯ และความเดือดร้อนของชาวบ้าน จากนั้น ผู้ว่าฯ บอกกับชาวบ้านว่า จะนัดพบกับชาวบ้านอีกครั้งในวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่จากเขื่อนรัชประภา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกษตรมานั่งคุยร่วมกัน

เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานนำเสนอว่า น้ำในเขื่อนรัชประภาพอในการสร้างชลประทาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกษตรชี้แจงว่า ไม่ได้รับผลกระทบกับชาวบ้านเลย จากนั้น ชาวบ้านได้พูดถึงผลกระทบกับชาวบ้าน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ว่าฯ รับฟัง จากการที่ชาวบ้านบอกว่า การขุดคูคลองของโครงการฯ ยกระดับโดยใช้แรงโน้มถ่วงให้น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ

“ผู้ว่าฯ ได้ตั้งข้อสังเกตถามชลประทานว่า ในเมื่อชาวบ้านบอกว่าการยกระดับของส่งน้ำ เกิดน้ำธรรมชาติมาท่วมจะทำอย่างไร ชลประทานมีทางระบายน้ำให้ชาวบ้านหรือไม่ ผู้ว่าฯ ให้ชลประทานกางแผนที่ให้ดูแล้วให้อธิบายว่ามีช่องระบายน้ำกี่ช่อง แต่เจ้าหน้าที่ชลประทานตอบไม่ได้ ผู้ว่าฯ ถามถึงผลกระทบต่อชุมชน วัฒนธรรมประเพณี และสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับว่าไม่ได้รับผลกระทบ ผู้ว่าฯ จึงถามต่อว่า แล้วที่มีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปบางส่วนแล้ว ทั้งที่การรังวัดยังไม่เสร็จเรียบร้อยทำไมต้องรีบจ่ายเงินเวนคืน เจ้าหน้าที่ชลประทานบอกจำเป็นต้องทำเพราะออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว อีกทั้งกรมชลประทานเคยเชิญผู้ว่าฯ ไปจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดิน แต่กลับตอบปฏิเสธ”

นายวิโรจน์ เปิดเผยด้วยว่า ผู้ว่าฯ บอกกรมชลประทานว่า ขณะนี้ศาลปกครองได้รับฟ้องแล้ว หากศาลตัดสินว่าให้ยกเลิกโครงการฯ งบประมาณที่กรมชลประทานจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปแล้ว ถ้ารัฐเรียกคืนจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่กรมชลประทานบอกว่า ตนเองก็ไม่ทราบ ผู้ว่าฯ เลยพูดให้กรมชลประทานหยุดการดำเนินการใดๆ ก่อน จนกว่าศาลปกครองจะตัดสิน ผู้ว่าฯ ปฏิเสธการลงพื้นที่ หรือทำอะไรกับกรมชลประทาน เนื่องจากหากศาลตัดสินให้ยกเลิกโครงการฯ กลัวจะรับผิดชอบไม่ไหวกับค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการไปแล้ว

“เมื่อผู้ว่าฯ พูดแบบนั้น เราคิดว่าชลประทานจะปฏิบัติ แต่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ชลประทานก็ยังลงพื้นที่ตำบลท่าเคย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านเลยแห่กันไปดูว่าทำอะไร ชลประทานแก้ตัวว่า ไม่ได้ทำโครงการพัฒนาตาปี-พุมดวง แค่ทำโครงการขุดลอกคลอง ซึ่งชลประทานกำลังใช้อุบายว่า ไม่ใช่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง สุดท้ายชลประทานก็ยอมรับว่า เป็นโครงการเดียวกัน” นายวิโรจน์ กล่าว

อนึ่ง รายงานโครงการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2551) โดยได้ศึกษาที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และท่าเรืออุตสาหกรรม ซึ่งการศึกษาได้เสนอทางเลือก 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยระบุความต้องการพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ สำหรับโรงกลั่นน้ำมันโรงแยกก๊าซ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ และยิปซัม น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าแปรรูปเกษตรอื่นๆ และโรงไฟฟ้า

รวมทั้งเสนอให้วางท่อส่งน้ำดิบ ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำดิบ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (70,000 ลบ.ม.ต่อวัน) จากคลองพุมดวงด้านท้ายน้ำของเขื่อนรัชประภามายังนิคมอุตสาหกรรม

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ /ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้
นายวิโรจน์ ทองเกษม คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น