xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเลี้ยงกุ้งปัตตานี บุกศาลากลางร้องราคากุ้งตกต่ำ จี้รัฐรับจำนำ 2 หมื่นตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งปัตตานี เรียกร้องให้จังหวัดช่วยแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ยื่น 4 ข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งเปิดโครงการรับจำนำกุ้ง ภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ 20,000 ตัน พร้อมยกเลิกโครงการรักษาเสถียรภาพกับห้องเย็นโดยด่วน

วันนี้ (5 ก.ค.) ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ได้มีตัวแทนผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งปัตตานี มารวมตัวกันพร้อมติดป้ายข้อความ เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดแก้ไขปัญหาราคากุ้งขาวแวนาไมที่มีราคาตกต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดทุนอย่างหนัก ที่ผ่านมา แม้เกษตรกรจะเข้าโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งแวนาไมเมื่อวันที่ 10-30 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากเกิดปัญหาความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา และเกษตรกรที่แจ้งยื่นความจำนงกลับไม่ตรงกับขนาดที่ห้องเย็นต้องการ เพราะกุ้งขนาดใหญ่ห้องเย็นไม่รับชื้อ นอกจากนั้น ยังมีห้องเย็นบางรายรับซื้อเฉพาะเกษตรกรที่ใช้อาหารของตัวเองเท่านั้น

โดยเฉพาะเกษตรกรที่จับกุ้ง มีปัญหาต้องจับขายก่อนกำหนดต้องยอมขายในราคาที่ขาดทุน เช่น กุ้งขนาด 50 ตัว/กก. ในราคา 120 บาท จากต้นทุนที่มี 127 บาท/กก. กุ้งขนาด 60 ตัว/กก. มีต้นทุน 123 บาท แต่ขายเพียง 114 บาท และกุ้งขนาด 70 ตัว/กก. ต้นทุน 117 บาท/กก. ขายเพียง 110 บาท ซึ่งมีนายสุกิจ รัตนวินิจกุล ประมงจังหวัดปัตตานีเป็นผู้รับหนังสือเรียกร้องแทนจากตัวแทนเกษตรกร ก่อนที่จะเข้าประชุมเพื่อหารือหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันที่ห้องประชุมเล็ก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัด โดยมี ว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ วงค์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นั่งเป็นประธาน

นายกฤษฎา จินดารัตน์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งปัตตานี กล่าวว่า วันนี้เราได้นัดรวมตัวกับผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งประมาณ 20 ฟาร์ม ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อยื่นหนังสือให้แก่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาราคากุ้งชาวแวนาไมที่มีราคาตกต่ำ โดยมีข้อเรียกร้องจากรัฐบาลดังนี้ 1ให้รัฐบาลเร่งเปิดโครงการรับจำนำกุ้ง ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 จำนวน 20,000 ตัน พร้อมยกเลิกโครงการรักษาเสถียรภาพกับห้องเย็นโดยด่วน

2.ให้รัฐบาลจัดหาเงินสำหรับการแทรกแซงราคาโดยวิธีการจำนำ 3.ให้เกษตรกรลดกำลังการผลิตอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสถานการณ์ไม่จูงใจ และ 4.ขอความร่วมมือโรงเพาะฟักลูกกุ้งทั่วประเทศ ลดกำลังการผลิตลูกกุ้ง 50 เปอร์เซ็นต์



กำลังโหลดความคิดเห็น