ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - บสย.จับมือไอแบงก์เซ็น MOU ในวงเงิน 1.2 พันล้าน ช่วยผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มธุรกิจฮาลาลใน 2 โครงการ พร้อมกระตุ้นการเข้าถึงเงินทุนของธุรกิจอาหารฮาลาลเพื่อรองรับตลาดโลก ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดของโลก ด้าน รมช.คลัง เผยเตรียมโครงการช่วยเหลือกลุ่มต้มยำกุ้งในมาเลเซียเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในภาคใต้
วันนี้ (20 มิ.ย.) เวลา 14.00 น. ณ ห้องตะกั่วป่า โรงแรมหรรษาเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาล และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ IBank Big5” โดยมีนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1.6 พันล้านคน หรือ 23% ของประชากรโลก และคาดว่าภายในปี 2573 จะมีจำนวนมุสลิมโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจฮาลาลจากความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันนั้น ธุรกิจฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ารวมกว่า 208 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลถึง 5.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ประกอบกับประเทศไทยมีความโดยเด่นในเรื่องการผลิตอาหารสำเร็จรูป และอาหารทะเล ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกมากยิ่งขึ้น เฉพาะภายหลังจากที่มีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้ ก็จะมีตลาดของประเทศอินโดนีเซียรองรับอย่างแน่นอน ซึ่งมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกคิดเป็น 13% ขณะที่มาเลเซีย และบรูไนเองก็เป็นประเทศที่มีมุสลิม และมีมูลค่าตลาดมหาศาลด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องเกิด 2 โครงการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่ายขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้ “ครัวไทยสู่ครัวโลก”
“นอกจากการลงนามในครั้งนี้แล้ว ยังมีแนวคิดที่จะขยายไปสู่กลุ่มต้มยำกุ้งซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียอีกด้วย ซึ่งจะมีการตกลงกับผู้ประกอบการในเร็วๆ นี้ โดยอัตราดอกเบี้ยก็จะไม่ต่างกับกับโครงการที่ทำขึ้นให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย” รมช.การคลังกล่าว
ด้านนายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อฯ จะเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจฮาลาลที่ได้รับใบอนุญาตและมีหนังสือรอบรองฮาลาล ทั้งในส่วนของภาคการผลิต การค้าและบริการ สามารถแข่งขับกับต่างประเทศตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 500 ล้านบาท หรือไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย ภายในอายุการค้ำประกัน 7 ปี ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเพียง 1.25% ต่อปี โดยสิ้นสุดการรับคำขอภายในวันที่ 19 มิ.ย.2556
ด้านนายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการค้ำประกันสินเชื่อ IBank Big5 ว่า จะตอบสนอง SMEs ทั่วไปที่มีศักยภาพแต่ขาดเงินทุน ด้วยวงเงินค้ำประกันรวม 700 ล้านบาท หรือไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ภายในอายุการค้ำประกัน 7 ปีเช่นเดียวกัน แต่มีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสูงกว่าเล็กน้อย 1.55% ต่อปี และจะสิ้นสุดรับคำขอในวันที่ 19 มิ.ย.2556