xs
xsm
sm
md
lg

กวี จงกิจถาวร : มองอาเซียนผ่านมุม ‘ข่าว’ (1) พลวัตในรอบ 45 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮัสซัน โตะดง
มูฮำหมัด ดือราแม
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
กวี จงกิจถาวร
กวี จงกิจถาวร ประธาน SEAPA บรรยายพิเศษ “มองประชาคมอาเซียนจากมุมข่าว” อธิบายพลวัตอาเซียนในรอบ 45 ปี จับตาพม่าผงาดจาก ZERO เป็น HERO ส่วนไทยจะตกกระป๋องไปอีกนาน อินโดฯ จะเป็นพี่ใหญ่ ภาษาจะครองอาเซียน ไม่แทรกแซงความหมายที่เปลี่ยนได้

ใครๆ ก็อยากเข้าอาเซียน
ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมลงนามเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 หรือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ขณะนั้นประเทศไทยสามารถเป็นตัวกลางในภูมิภาคได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น ไม่มีเรื่องบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มีความน่าเชื่อถือสูง มีนโยบายทางการทูตอิสระ แน่นอน และได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรี

ไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกลไกที่จะลดความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งขณะนั้น ประเทศมาเลเซียมีปัญหากับประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อรับมือกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดจีน ในปี 1992 หลังจากสงครามในประเทศกัมพูชาสิ้นสุดลง จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่เวียดนามเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอินโดจีนได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน

สำหรับประเทศติมอร์ตะวันออกจะเข้ามาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศที่ 11 แต่ประเทศอินโดนีเซียคัดค้านเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียสนับสนุน แต่กลับพบว่าประเทศสิงคโปร์ไม่ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศอินโดนีเซียอีกครั้ง

ลึกๆ แล้ว สิงคโปร์ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกอยู่ภายใต้อิทธิพลของออสเตรเลียเหมือนเดิม ต่างจากประเทศบรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนหลังได้รับเอกราชไม่ถึง 1 สัปดาห์ นับเป็นประเทศที่ฉลาดมาก เพราะการได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนทำให้อาเซียนสามารถปกป้องประเทศสมาชิก

ส่วนประเทศปาปัวนิวกีนี ยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนหรือไม่ เนื่องจากประเทศที่สนับสนุนมีเพียงประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศอินโดนีเซีย ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่เห็นด้วย

เหตุที่ประเทศปาปัวนิวกีนีอยากเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนเพราะไม่อยากโดดเดี่ยว และประเทศปาปัวนิวกีนีถูกประเทศออสเตรเลียรังแกมาตลอด จึงหวังการปกป้องจากอาเซียน ฉะนั้นประเด็นที่สำคัญของอาเซียนคือ ร่วมกันแล้วแข็งแรง เหมือนต้นข้าว 10 ต้นมัดรวมกัน ดังปรากฏในสัญลักษณ์ของอาเซียน

เมื่อ 45 ปีก่อน ศรีลังกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยากเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน เพราะไม่ต้องการอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่อาเซียนไม่สนใจ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่ม “พยัคฆ์ทมิฬไทเกอร์” ซึ่งเป็นปัญหาเชื้อชาติ และอาเซียนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง

ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ หากต้องการแข่งขันกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ คงต้องเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มประเทศติมอร์ตะวันออกเข้ามา

ผมกล้าท้าทายว่า ในอีก 10-15 ปีข้างหน้าประเทศออสเตรเลียกับประเทศนิวซีแลนด์จะเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ผมเชื่อว่าเป็นไปได้เพราะแนวคิดใหม่ไม่สนใจเรื่องภูมิศาสตร์แล้ว แต่สนใจเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้นความหมายของอาเซียน ไม่ใช่เป็นแค่กลุ่มประเทศในเอเชียอาคเนย์อีกต่อไป

คุณสมบัติของอาเซียน
การเมืองในอาเซียนมีระบบที่หลากหลาย ในความหลากหลายดังกล่าวทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ยุ่งยากเพราะคิดอะไรไม่เหมือนกัน อย่างประเทศมาเลเซียคิดไปอย่างหนึ่ง ประเทศอินโดนีเซียก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น สำหรับการเขียนข่าวที่เกี่ยวกับอาเซียน จำเป็นต้องคิดถึงความหลากหลายและความต้องการในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น อาเซียนไม่เหมือนสหภาพยุโรปที่เมื่อจะรับสมาชิกประเทศใหม่ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งด้านการเมือง ความคิด การบริหารธุรกิจ สังคมอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างประเทศตุรกีที่ไม่สามรถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ ส่วนอาเซียนให้เข้ามาเป็นสมาชิกก่อน แล้วค่อยจัดการที่หลัง

ประเทศอินโดนีเซียเป็นชาติมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ส่วนประเทศไทย พม่า และลาว เป็นประเทศพุทธศาสนา และฟิลิปปินส์เป็นคริสเตียน โดยไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ใช้กำลังต่อกัน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอาเซียน

ผมคิดว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าภาษาอินโดนีเซียจะเป็นภาษาของอาเซียน เพราะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีบารมี โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 1998 หลายประเทศให้การยอมรับ

ส่วนประเทศไทยเคยมีบารมีสูงมากในปี ค.ศ. 1995 เนื่องจากมีนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยและนโยบายสิทธิมนุษยชน ตอนนี้ประเทศไทยตกกระป๋องไปแล้ว และจะตกกระป๋องไปอีกนาน

‘พม่า’น่าจับตาในอาเซียน
ตอนนี้ประเทศที่เป็นตัวแปรใหม่สำหรับสมาชิกอาเซียน คือ ประเทศพม่า ประเทศพม่า สามารถล้มโต๊ะอาเซียนได้ พม่าเปลี่ยนจาก Zero มาเป็น Hero ตอนนี้หลายๆ ประเทศเริ่มลดการคว่ำบาตรพม่าไปเรื่อยๆ

ส่วนประเทศไทยลืมไปเลย ไม่มีใครสนใจ เพราะมัวห่วงว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับประเทศหรือไม่ ปัญหานี้อีก 3 ปีก็ไม่จบ แต่ประเทศไทยจบ

65 ปีหลังสงครามโลก ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษในโลกเสรี ในฐานะที่มีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ไม่ขาดตอน แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ประเทศในอาเซียนต่างยืนเรียงหน้าเพื่อแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยแม้ได้สิทธิล่วงหน้ามา 65 ปีแล้ว แต่การพัฒนาก็ไปไม่ถึงไหน

‘ไม่แทรกแซง’ ความหมายที่เปลี่ยนได้
เรื่องการไม่แทรกแซงทางการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะสร้างความมั่นใจต่อกัน ตอนนี้มีการแทรกแซงโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ไปจับมือกับประเทศกัมพูชาและอีกหลายประเทศในอาเซียน แต่เป็นประเด็นที่ยังไม่มีใครกล้าที่จะคุย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ในประเด็นการไม่แทรกแซง

การตีความหมายของการไม่แทรกแซงทางการเมืองภายในสมาชิกอาเซียนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป็นเทคนิคหนึ่งที่อาเซียนชอบใช้ คือตีความความหมายเข้าข้างตัวเอง เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่ตีความหมายเข้าข้างตัวเองว่า แม้รัฐธรรมนูญห้ามใช้กำลัง แต่ถ้าส่งกำลังไปช่วยส่งเสริมการรักษาสันติภาพในประเทศอื่นๆ ทำได้ หลักการไม่แทรกแซงนั้น ไม่ใช่ลักษณะที่ตัวแข็งไม่เปลี่ยนแปลง แต่อยู่ที่การตีความหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น