xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารปูม้าชุมชน: นวัตกรรม และภูมิปัญญาในการฟื้นฟูทะเลไทยของชาวประมงพื้นบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ
นักวิจัยอิสระด้านการจัดการประมง

“ปูม้า” มีรสชาติอร่อยเป็นที่นิยมในหมู่คนที่ชื่นชอบบริโภคอาหารทะเล เนื้อปูที่แน่น และมีรสหวานแสดงให้เห็นถึงความสดและสมบูรณ์ของปูม้า ปูม้าที่มีคุณภาพดีส่วนใหญ่จับโดยชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้อวน (จม) ปูที่มีตาอวนขนาดประมาณ 4 นิ้ว ซึ่งจะจับได้ปูที่มีขนาดใหญ่และยังมีชีวิตอยู่ในขณะลำเลียงขึ้นฝั่ง
ลักษณะปูไข่นอกกระดอง ไข่สีเทาดำ ที่ชาวประมงจับได้
“ปูม้า” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Blue swimming crab เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ แหล่งที่อยู่อาศัยแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในทะเลเขตร้อน โดยเฉพะบริเวณปากแม่น้ำและชายฝั่ง สำหรับประเทศไทยปูม้าอาศัยอยู่ทั้งชายฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย ปูม้าเป็นสัตว์น้ำที่นิยมบริโภคโดยทั่วไปทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ในรูปของผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋อง บริโภคสด และแปรรูปแช่เย็น และแช่แข็งเพื่อการส่งออก คิดเป็นร้อยละ 57.4, 28.0 และ 14.6 ของปริมาณการจับตามลาดับ (กรมประมง, 2547) ในอดีต คนนิยมบริโภคปูม้าสด ตลาดจึงต้องการปูม้าขนาดใหญ่ ต่อมา ได้มีการนำปูม้ามาต้ม และแกะเนื้อจำหน่ายเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปซึ่งส่วนใหญ่ใช้ปูที่มีขนาดเล็ก

มีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการจับปูม้าคือ “ลอบปูพับได้” มาใช้ในการทำประมง เรือประมงพานิชย์ทำการประมงปูม้าแต่ละเที่ยวเรือสามารถบรรทุกลอบปูพับได้ ได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ลูก จับปูม้าได้ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในปริมาณมาก ทำให้มีการนำทรัพยากรปูม้าขนาดเล็กขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการที่ชาวประมงทั่วไปมีการจับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองในปริมาณมากด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ประชากรปูม้าในทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งยืนยันได้จากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมประมง ดร.วิมล จันทรโรทัย เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ในสภาวะปัจจุบัน มีการนำทรัพยากรปูม้ามาใช้เกินกำลังการผลิตของทะเล (carrying capacity) ถึงร้อยละ 10 และเกินจุดมูลค่าสูงสุดถึงร้อยละ 40 รวมทั้งพบว่า มีการจับปูม้าขนาดเล็กก่อนถึงขนาดเจริญพันธุ์ขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทำให้ปูม้าที่จะเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์มีจำนวนที่ลดลงเป็นอันมาก”
เลี้ยงแม่ปูไข่ในกระชังอีกไม่กี่วันเพื่อให้ปล่อยตัวอ่อนก่อนนำไปขาย หรือบริโภค
ภายใต้สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรปูม้าในท้องทะเลไทย กลับมีอีกหนึ่งความพยายามของชุมชนประมงชายฝั่งในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ได้ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรม “ธนาคารปูม้าชุมชน” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กับท้องทะเลไทย ด้วยวิธีการง่ายๆ แต่ก่อประโยชน์ให้แก่ธรรมชาติ และเศรษฐกิจประมงปูม้าอย่างมหาศาล

รูปแบบการดำเนินกิจกรรม “ธนาคารปูชุมชน” จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามข้อตกลงของสมาชิกชุมชนแต่ละพื้นที่ แต่มีวิธีการหลักๆ คือ คณะกรรมการชุมชนจะรับบริจาคปูม้าไข่นอกกระดอง (ซึ่งเป็นไข่ที่เกาะติดบริเวณส่วนท้อง และสามารถมองเห็นได้ชัดเจน) ที่ติดมากับอวน หรือเครื่องมือประมงอื่นๆ ของสมาชิกชุมชน และนำมาปล่อยในกระชังที่สร้างไว้ในบริเวณชายฝั่ง หรือในถัง หรือบ่อพักที่สร้างไว้บริเวณชายหาดหน้าหมู่บ้าน เพื่อให้แม่ปูม้าได้วางไข่ก่อนถูกนำไปขาย หรือบริโภค ไข่นอกกระดองจะมีสีเหลืองอ่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองออกส้ม สีเหลืองออกน้ำตาล และสีเทาอมดำ ตามลาดับ ปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำจะปล่อยตัวอ่อนภายใน 1-2 วัน แม่ปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว จะปล่อยตัวอ่อนประมาณ 250,000 ถึง 2,000,000 ล้านตัวต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของไข่ที่แม่ปูแต่ละตัวมีอยู่ จากการศึกษาของวารินทร์และคณะ (2547) พบว่า ไข่ปูม้า 1 กรัม มีปริมาณไข่ประมาณ 22,030 ฟอง
บางธนาคารปู จะเลี้ยงแม่ปูไข่ในถังแทนการปล่อยในกระชัง
ตอนนี้ลองมาใช้คณิตศาสตร์ง่ายๆ คำนวณผลประโยชน์ที่จะได้รับจากธนาคารปูหนึ่งแห่งว่ามากมายมหาศาลอย่างไรบ้าง ถ้าอัตราการรอดของลูกปูที่ถูกปล่อยลงทะเลอยู่ที่ร้อยละ 1 เราก็จะได้ปริมาณปูในทะเลเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 2,500-10,000 ตัวต่อแม่ปู 1 ตัว ถ้าธนาคารปู 1 แห่งมีแม่ปูไข่นอกกระดอง 30 ตัวต่อเดือน หรือ 360 ตัว ต่อปี จะพบว่าธนาคารปูนั้นๆ สามารถเพิ่มประชากรปูให้แก่ท้องทะเลได้ปีละ 900,000-7,200,200 ตัว และถ้าชาวประมงจับปูม้าเพื่อขาย อยู่ที่ 6 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม และกิโลกรัมละ 200 บาท ชาวประมงจะมีรายได้จากปูม้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ประมาณ 30-240 ล้านบาทต่อปี

การคำนวณที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการคำนวณจากฐานตัวเลขขั้นต่ำ แต่ยังสามารถเห็นผลประโยชน์จากธนาคารปูหนึ่งแห่งได้อย่างมากมายมหาศาล การคำนวณนี้ไม่รวมถึงตัวเลขการออกไข่ในระหว่างปีของลูกปูแต่ละตัวที่ถูกปล่อยไป และคำนวณอัตราการรอดของลูกปูเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น (อัตราการรอดจะเพิ่มขึ้นขนาดของลูกปูม้าที่ปล่อยลงสู่ทะเล ถ้าสามารถอนุบาลได้ลูกปูม้าขนาดความกว้าง 1.0-1.4 เซนติเมตร ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล จะมีอัตราการรอดตายอยู่ที่ 40-60%) และเป็นการคำนวณจากจำนวนแม่ปูไข่นอกกระดองที่เลี้ยงไว้ในกระชังเพียง 360 ตัวต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำเมื่อเทียบกับตัวเลขการเลี้ยงจริง
ไม่กี่วันปูก็ปล่อยตัวอ่อน หรือวางไข่
การคำนวณนี้เป็นการคำนวณจาก “ธนาคารปูชุมชน” เพียงแห่งเดียว แต่ถ้าเราคูณด้วยจำนวนธนาคารปูชุมชนที่มีอยู่จริงในขณะนี้ จะพบว่า ชุมชนประมงชายฝั่งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศกำลังดำเนินกิจกรรมที่มีคุณูปการในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้แก่ทะเลไทยอย่างมากมายมหาศาล การเพิ่มขึ้นของรายได้ของชาวประมง และธุรกิจประมงต่อเนื่อง ตลอดจนการเพิ่มพูนอาหารทะเลที่มีคุณภาพให้แก่สังคมไทย

ดังนั้น น่าจะเป็นเรื่องดีที่กรมประมงในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงจะส่งเสริมให้เกิด “ธนาคารปูชุมชน” ในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทั่วประเทศเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้แก่ท้องทะเลไทย รวมทั้งควบคุมการทำประมง “ลอบปูพับได้” ไม่ให้จับปูขนาดเล็กโดยการเพิ่มช่องตาลอบให้มีขนาดไม่ต่ำกว่าอวนปูที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้กันอยู่ และลดการลงแรงประมงของเรือ “ลอบปูพับได้” โดยการจำกัดจำนวนลอบในแต่ละเที่ยวการทำประมงเพื่อไม่ให้เกิดการการทำประมงที่เกินศักยภาพการผลิตของทะเล

กำลังโหลดความคิดเห็น