xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอผนึก กสม.ในการปกป้องดูแลทรัพยากรชายฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรัดร์ พิทักษ์วัชระ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “สมาคมรักษ์ทะเลไทย” ร่วมกับ “สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” และอีกหลายหน่วยงานจัดเสวนา “สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและการประมง” ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.นี้ ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
 
สมาคมรักษ์ทะเลไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย องค์การออกแฟม จีบี (OXFAM GB) ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิอันดามัน และองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ได้จัดเสวนา หัวข้อ “สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและการประมง” ระหว่างวันที่  21-22 พฤษภาคม  2555  ณ. โรงแรมริชมอนด์  จังหวัดนนทบุรี  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนจากชุมชนชายฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้านจากภาคใต้ ภาคตะวันออก  องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้อง หน่วยงานราชการที่ทำงานเกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชน ประมาณ  200  ท่าน 
 
การเสวนาครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ริมทะเลและชายฝั่งที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิชุมชน รวมทั้งร่วมเรียนรู้ข้อเท็จจริงในพื้นที่ ข้อเสนอเชิงวิชาการจากภาคส่วนต่าง ๆในประเด็นสิทธิหน้าที่และอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล ชายฝั่งและการประมง  พร้อมทั้งรวบรวมข้อเสนอต่อนโยบาย กฎหมายที่สามารถแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืน โดยชุมชนชายฝั่ง ชุมชนประมงพื้นบ้านสามารถใช้สิทธิในการจัดการทรัพยากรได้อย่างแท้จริง เพื่อนำเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรทะเล ชายฝั่งและการประมง
 
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การละเมิดสิทธิชุมชนโดยหน่วยงานรัฐนั้น เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ  การเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุลเน้นอุตสาหกรรมเป็นหลัก ได้ทำลายสิทธิชุมชนโดยไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจการจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง  จำเป็นต้องมีการยกระดับสิทธิชุมชนให้มีสถานะไม่ใช่เพียงกระดาษที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องสามารถถ่วงดุลกับอำนาจปัจเจกและอำนาจรัฐได้
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชนว่า การละเมิดสิทธิชุมชนมีมานานและรุนแรงมากขึ้น โดย การทำผ่านโครงการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา และความพยายามในการใช้อำนาจตามกฎหมายในการอนุญาตให้ใครใช้ประโยชน์จากทรัพยากร บนฐานคิดที่ว่าทรัพยากรเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของประชาชน จึงเห็นว่ารัฐใช้อำนาจในการจัดการทรัพยากรอย่างเด็ดขาดและมีแนวโน้มลำเอียง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทรัพยากรที่ประชาชนใช้เพื่อการดำรงชีวิตและความอยู่รอด ประชาชนตอบโต้ภัยคุกคามเหล่านี้ ด้วยการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร เพื่อแสดงตนในการมีส่วนร่วมในการดูแล ปกป้องและจัดการทรัพยากรของชุมชน และทำงานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ  เพื่อยืนยันว่าสิทธิชุมชนมีอยู่จริง  และการกำหนดข้อบังคับระดับตำบลร่วมกับท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรนั้นถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐส่วนกลาง ซึ่งทำให้สิทธิชุมชนดำรงอยู่ได้
 
นายสะมะแอ เจะมูดอ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ ได้กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงเพราะกฎหมายที่มีอยู่เอื้อต่อการทำลายทรัพยากร ไม่มีกฎหมายรองรับการทำลายล้าง และชาวบ้านทำอะไรก็ผิดทั้งหมด เสนอให้กรมประมงให้มีการยกร่างกฎหมายประมงใหม่  ในส่วนขององค์กรประมงพื้นบ้านร่วมกับภาควิชาการ  หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายประมงฉบับชาวประมงพื้นบ้านขึ้น  แต่ปรากฏว่ามีการตัดสาระสำคัญที่พูดถึงสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมด...”
 
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน ให้ความเห็นว่า ประชาชนไม่ต้องร่างกฎหมายถ้ารัฐตระหนักถึงสิทธิชุมชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าเวลาเราพูดถึงกฎหมายประมงและทะเลนั้น มีอยู่ 2 หลักการสำคัญ คือ หนึ่งทรัพยากรเป็นของทุกคน ที่ต้องดูแลให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน สองการจัดการระบบนิเวศ ต้องพูดถึงการจัดการเชิงพื้นที่ และเห็นว่าพัฒนาการทำงานของประมงพื้นบ้านจริง ๆ ก้าวหน้ากว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาออกมารองรับอยู่ในขณะนี้  และบางปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านที่กฎหมายแก้ไม่ได้  เพราะข้อบกพร่องของระบบที่มีอยู่  แต่เชื่อในระบบการปรึกษาหารือและการเคารพการปกครองตนเองของชุมชนท้องถิ่น กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานให้ดีขึ้น แต่ถึงไม่มีกฎหมายเราก็ยังต้องทำงานกันต่อไป  ผ่านโอกาสและหลายช่องทางที่มีอยู่
 
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลอยู่ในสถานะที่อ่อนไหวต่อการสูญเสียแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของสังคม อาชีพชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่ 24 จังหวัดก็จะอยู่ไม่ได้ หากเรายังปล่อยปละละเลยให้มีการทำลายทรัพยากรอย่างไร้การปกป้องดูแลจากภาคส่วนต่างๆในสังคม วันนี้เราปล่อยให้นายทุนเจ้าของบริษัทอาหารสัตว์ เจ้าของโรงงานปลาป่น ธุรกิจอวนลากอวนรุนซึ่งเป็นเครื่องมือทำลายล้างทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำ เข้าไปทำลายแหล่งอาหารธรรมชาติของสังคมอย่างไร้การควบคุม กรมประมงเองก็ไม่ปกป้องอาชีพชาวประมงส่วนใหญ่แต่กลับไปยืนอยู่ข้างประมงพานิชย์ ทำให้การทำลายทรัพยากรประมงเป็นไปอย่างรุนแรง กรมประมงเองก็เตรียมการที่จะนิรโทษกรรมเรืออวนลากที่ไม่จดทะเบียนอีก 4000 กว่าลำ ทั้งๆที่ในทางวิชาการอวนลากเป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างที่สำคัญ ซึ่งในอารยประเทศเขาหาทางให้ลดและให้มีการยกเลิก แสดงให้เห็นว่าวันนี้กรมประมงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มประมงพานิชย์ ไม่สนใจปากท้องและอาชีพของคนส่วนใหญ่
 
ในเวทีเสวนา ดังกล่าวได้มีตัวแทนองค์กรประมงพื้นบ้านหลายพื้นที่ นำเสนอ กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรทะเลชายฝั่งและการประมงโดยชุมชนของหลายจังหวัด เช่น การทำข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและประมง  การทำโฉนดทะเล   ฯลฯ  และยังต้องทำงานต่อไปไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่ก็ตาม...แต่อย่างไรก็ตาม พี่น้องประมงพื้นบ้านจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมายประมงที่ยกร่างโดยชาวประมงพื้นบ้านและติดตามร่างกฎหมายประมง ที่ยกร่างและเสนอโดยหน่วยงานรัฐ  พรรคการเมืองอย่างใกล้ชิดต่อไป
นายบรรจง นะแส
กำลังโหลดความคิดเห็น