xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นลมมรสุมแรง ทำตลาดอาหารทะเลตรังลด 50% แผงปลาหยุดชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - คลื่นลมมรสุมในทะเลตรัง ทำเรือประมงทุกชนิดออกหาสัตว์น้ำในทะเลไม่ได้ ขณะที่แม่ค้าในตลาดสดโอด ปลาหลายชนิดหายจากท้องตลาดกว่าร้อยละ 50 แถมยังมีราคาแพง ส่วนแผงขายปลาบางที่หยุดชั่วคราวเพราะไม่มีสินค้า หรือขายเฉพาะช่วงเช้า

วันนี้ (14 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ตรัง ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และเรือประมงพื้นบ้านในพื้นที่ อ.กันตัง ไม่สามารถออกหาปลา หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ในทะเลได้ จึงต้องจอดลอยลำเทียบท่าที่ฝั่งจำนวนมาก เนื่องจากมีพายุคลื่นลมแรงในทะเลสูงประมาณ 2-3 เมตร ซึ่งส่งผลให้ปลา และสัตว์น้ำในท้องตลาดขาดแคลน และมีราคาแพงขึ้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจแผงจำหน่ายปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ในตลาดสดเทศบาลนครตรัง พบว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากปลาขาดแคลน ทำให้พ่อค้าแม่ค้ากว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถหาปลามาขายได้ จึงจำเป็นต้องปิดแผงหยุดขายเป็นการชั่วคราวไปก่อน จนกว่าเรือประมงจะออกหาปลาในทะเลได้ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่ยังพอมีปลาจำหน่ายอยู่ก็เปิดแผงขายเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น เพราะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

นางอรทัย ศิริจารุกุล อายุ 55 ปี แม่ค้าขายปลาในตลาดสดเทศบาลนครตรัง บอกว่า ขณะนี้สัตว์น้ำจำนวนมากได้ขาดหายไปจากท้องตลาด โดยเฉพาะปลาทู ปลาลัง ปลาสาก ปลากระบอก นอกจากนี้ ยังมีราคาแพงขึ้นด้วย โดยเฉพาะปลามง ซึ่งอยู่ที่ กก.ละ 170 บาท จากเดิม กก.ละ 150 บาท, ปลาโรดอยู่ที่ กก.ละ 107 บาท จากเดิม กก.ละ 105 บาท ปลากะพงขาว อยู่ที่ กก.ละ 220 บาท จากเดิม กก.ละ 200 บาท

ส่วนปลาอื่นๆ ในทะเลก็ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากคลื่นลมมรสุม ทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถหาปลามาขายในท้องตลาดได้ ส่งผลกระทบต่อยอดขายแล้วร้อยละ 50 จึงต้องหันไปรับซื้อปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในกระชัง และนำสัตว์ปีกที่ชำแหละแล้ว อย่างไก่สดมาขายแทน เพื่อให้มีรายได้พอจุนเจือครอบครัว

ขณะที่ นายตรังปกรณ์ พรพิมลวัฒน์ เจ้าของแพปลายิมเซียะ เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดคลื่นลมมรสุมในทะเล ทำให้เรือประมงทุกชนิดไม่สามารถออกเรือหาปลาทั้งในท้องทะเลฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทยได้ ต้องเปลี่ยนไปจับสัตว์น้ำในท้องทะเลประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า อินโดนีเซีย และมาเลเซียแทน ส่งผลกระทบให้ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ในท้องตลาดขาดแคลน

โดยในส่วนของแพปลายิมเซียะ ซึ่งประกอบธุรกิจรับซื้อปลา และสัตว์น้ำในท้องทะเล เพื่อส่งไปขายยังห้องเย็น และโรงงานต่างๆ ใน อ.กันตัง ขณะนี้มีผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะรับซื้อปลา และสัตว์น้ำอื่นมาจากตลาดอื่นที่ไม่ใช่ จ.ตรัง ได้แก่ จ.สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และประเทศมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปริมาณสัตว์น้ำไม่มากก็ตาม แต่ก็ยังพอมีวัตถุดิบส่งให้แก่โรงงาน และห้องเย็นต่างๆ ใน อ.กันตัง เพื่อนำไปแปรรูปส่งขายต่อยังตลาดต่างประเทศได้อยู่ พร้อมคาดว่า หลังจากคลื่นลมมรสุมสงบลงในปลายสัปดาห์นี้แล้ว เรือประมงต่างๆ ก็จะออกหาปลาได้ตามปกติ และมั่นใจว่า สัตว์น้ำจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น