xs
xsm
sm
md
lg

บาดแผลและมีดที่ “ปักอก” ชาวประมง ....จากเฮียม้อ

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ติดตามข่าวชัยชนะอันท่วมท้นของอดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ที่มาลงสนามการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ของนายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์หรือฉายา “เฮียม้อ” ของพี่น้องแห่งจังหวัดสมุทรสาคร ก็ขอแสดงความดีใจกับพี่น้องด้วย แต่อยากจะเรียนให้ทราบว่า “เฮียม้อ” คนนี้ ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กระทำการที่โหดร้ายแก่พี่น้องชาวประมงชายฝั่ง โดยเป็นผู้เซ็นออกประกาศกระทรวงให้มีการทำการประมงด้วยวิธีปั่นไฟ นับเป็นบาดแผล เป็นดาบที่ยังปักอยู่ที่อกของพี่น้องชาวประมงและคนกินปลาอย่างเราๆ จนถึงทุกวันนี้

ปัญหาการลดลงของทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทย ส่วนสำคัญเกิดจากการที่เราปล่อยให้มีเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง เช่น อวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟ ฯลฯ ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยที่เคยเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กับสังคม เป็นรายได้จากการส่งออกอาหารทะเลที่อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ถึงวันนี้กลับเริ่มที่จะเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศอื่นๆ ทั้งๆ ที่ต้นทุนทางทรัพยากรชายฝั่งของเราสูงมากๆ ไม่ว่าการมีชายฝั่งทั้งสองด้าน (อันดามันและอ่าวไทย) ยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร มีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล 23 จังหวัด นั่นก็หมายถึงเรามีแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำที่คนเข้าถึงได้ง่าย

ยังไม่นับถึงความโชคดีที่ประเทศไทยของเราตั้งอยู่ในเขตร้อน ซึ่งส่งผลให้เรามีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่าในเขตอื่นๆ ของผืนโลกที่เป็นแหล่งน้ำ แต่เพราะเราขาดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ที่เอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง กลุ่มทุนธุรกิจอาหารสัตว์อย่างธุรกิจปลาป่น โรงงานน้ำปลา จึงฉวยโอกาสสร้างความร่ำรวยให้กับธุรกิจของตัวเอง ไม่ต่างกับเจ้าของธุรกิจโรงเลื่อย ที่สร้างความร่ำรวยในอดีต แต่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติจนไม่เหลือหรอ ผลร้ายต่างๆ จึงเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่อย่างที่ทราบๆ กัน

ที่จำเป็นต้องพูดถึงคุณมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ ก็เพื่อจะบอกความจริงให้สังคมได้รับทราบทั่วๆ กันอีกครั้งว่า ในสมัยที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ท่านได้ออกประกาศกระทรวงให้การทำการประมงด้วยวิธีปั่นไฟกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ได้ยุติไปในสมัยที่อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในสมัยพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี

ในยุคนั้นมีการนำวิธีการจับปลาด้วยวิธีปั่นไฟจับปลากะตักมาใช้กันมากในฝั่งอันดามัน ส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น ปลาทู ปลาอินทรีย์ ลูกปลาสากปลาทุกชนิด ซึ่งมีมากกว่า 80% ที่ถูกจับขึ้นมาด้วยวิธีปั่นไฟ ชาวประมงทั่วๆ ไปได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า ชาวประมงลุกขึ้นมาประท้วง เดินขบวนให้มีการประกาศยกเลิกวิธีการทำการประมงด้วยวิธีการดังกล่าว

นายแพทย์บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในสมัยนั้น จึงได้ออกประกาศยกเลิกห้ามมิให้มีการทำการประมงด้วยวิธีปั่นไฟ (ยกเว้นการจับปลาหมึก) ทำให้เรือปั่นไฟปลากะตักซึ่งจะใช้แสงสว่างล่อปลา ทำให้ปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับไปด้วย ในอัตราส่วนที่สูงมากเรือปั่นไฟก็ยุติลงโดยทันที

เรือปั่นไฟจับปลากะตักแบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ เรือจับปลากะตักปั่นไฟแบบใช้อวนล้อม เรือจับปลากะตักปั่นไฟแบบอวนช้อน (หรืออวนยก) และเรือจับปลากะตักปั่นไฟแบบใช้อวนครอบ (หรืออวนมุ้ง) เครื่องมือจับปลากะตักประกอบการปั่นไฟแบบใช้อวนล้อมเครื่องมือจับปลากะตักประกอบการปั่นไฟแบบใช้อวนล้อม (อวนยก) เครื่องมือจับปลากะตักประกอบการปั่นไฟแบบใช้อวนครอบ (อวนมุ้ง) ลักษณะการทำลายล้าง แสงไฟจะล่อสัตว์น้ำทุกขนาด ประกอบกับตาอวนที่เล็กทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อน โตไม่ได้ขนาดถูกจับพร้อมกับปลากะตักเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการลดลงของพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทย

ในปี 2539 คุณมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านมาจากธุรกิจการประมงขนาดใหญ่ เคยเป็นนายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย จึงไม่แปลกใจวิธีการบริหารงานของท่านในตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าควรจะตอบสนองกลุ่มไหน ท่านได้ออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ ให้มีการใช้แสงไฟในการทำการประมงจับปลากลับมาใช้ได้อีกครั้ง ชาวประมงพูดว่าเสมือนท่านปล่อยผีแม่นาคออกมาจากหม้อให้ออกมาอาละวาดอีกครั้ง

ชาวประมงชายฝั่งทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า ปี 2542 ในช่วงที่นายชวน หลีกภัย เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศกระทรวงมหาภัยฉบับนั้นก็ยังมีผลบังคับและยังสร้างความเสียหายแก่ชาวประมงและพันธุ์สัตว์น้ำอยู่ดังเดิม ชาวประมงทั่วประเทศเดินขบวน ไปนอนเฝ้าบ้านนายกฯ ชวนที่ซอยหมอเหล็ง เอาปลากะตักไปเทในทำเนียบฯ แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาของคนจนๆ นี่ช่างแก้ไขยากเสียจริงๆ แม้ประกาศกระทรวงแผ่นเดียวที่จะปกป้องอาชีพ นักการเมืองก็มอบให้ไม่ได้ จนเกิดภาวะซบเซาของอาชีพเรือปั่นไฟจับปลากะตักต้องลดลงเองเพราะไม่มีปลาให้จับ ในขณะที่อาชีพประมงชายฝั่งก็ปากกัดตีนถีบในการทำมาหากินมากขึ้นกว่าเดิม

ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศลุกขึ้นประท้วงประกาศกระทรวงที่คุณมณฑล รัฐมนตรีที่ได้ประกาศออกไปในปี 2542 นั้น สังคมประณามการกระทำของท่านมาก ว่าทำไมจึงบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่เอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง การออกประกาศให้มีการใช้ไฟปั่นในการจับพันธุ์สัตว์น้ำนั้น มันเป็นการทำร้ายทำลาย ทั้งต่ออาชีพของคนส่วนใหญ่ ทำลายทรัพยากรอันเป็นของชาติโดยรวม มีการตีความเหตุผลไปต่างๆ นานาว่าท่านออกประกาศมาเพราะเหตุใด บ้างก็ว่าเพราะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างซีพีหนุนให้ท่านทำ บ้างก็ว่าเพราะเครือข่ายอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ของท่านไม่ว่าพวกธุรกิจโรงงานน้ำปลา โรงงานปลาป่น ผลักดันกดดันอยู่เบื้องหลังของประกาศดังกล่าว

แต่ที่น่าตกใจก็คือว่าหลังจากมีกระแสวิจารณ์ท่านมณฑลเสียๆ หายๆ มีรุ่นน้องที่สนิทกับท่านมากๆ ขนาดเข้านอกออกในได้ตลอดเวลา เพราะเป็นเพื่อนสนิทกับลูกชายของท่าน ขนาดเรียก “ป๋า” ทุกคำที่พูดถึงท่าน มาบอกกับผมว่า “ผมไปถามให้แล้วครับพี่ ว่าทำไมป๋าถึงเซ็นประกาศกระทรวงฉบับนั้นออกมา” ท่านอธิบายว่าไงผมถาม “คือท่านบอกว่าป๋าไม่รู้ว่าป๋าเซ็นไปตอนไหน....ส่วนใหญ่พวกหน้าห้อง พวกเลขาฯ มันเตรียมไว้ให้แล้ว ป๋าก็แค่เซ็นๆ ไป...” ผมถึงบางอ้อ ก็ได้แต่ภาวนาว่าการขึ้นมาบริหารจังหวัดในฐานะนายกองค์การจังหวัดสมุทรสาครของท่านในครั้งนี้ จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกนะครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น