xs
xsm
sm
md
lg

อดีต “วาดะห์” รวมกลุ่มถกการเมืองเรื่องดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อดีตวาดะห์ร่วมเสวนา หาทางดับไฟใต้ “เด่น-วันนอร์-อารีเพ็ญ-นัจมุดดีน” ร่วมแถลง 5 ข้อแก้ปัญหาชายแดนใต้ ส่งนัยอาจรวมกลุ่มทางการเมือง

วานนี้ (11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องฟาฎอนี โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว หลังจากการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 6 โดยมีนักการเมืองจากพรรคต่างๆ โดยมีนายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกพรรคมาตุภูมิ อดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ เป็นผู้นำแถลงข่าว

โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ส่วนใหญ่เป็นอดีตแกนนำ และสมาชิกกลุ่มวาดะห์ ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายนัจมุดดีน อูมา สมาชิกพรรคมาตุภูมิ นอกจากนี้ ยังมีนายมุกตา วาบา สมาชิกพรรคภูมิใจไทย, นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) พรรคเพื่อไทย เป็นต้น
บรรยากาศการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกลุ่มวาดะห์
นายเด่น แถลงสรุปข้อเสนอจากการสานเสวนาว่า มี 5 ประเด็น เช่น ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้นำหลักรัฐประศาสโนบายของรัชกาลที่ 6 มาใช้ในการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ การส่งเสริมให้คนในพื้นที่เป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเริ่มจากใน ศอ.บต.ก่อน เร่งพัฒนาความยุติธรรมกระแสหลักให้สอดคล้องกับความเป็นจริง รวดเร็ว และเป็นธรรม เป็นต้น

นายวันมูหะมัด นอร์ แถลงด้วยว่า การเสวนาครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนาจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปจากการเสวนาแล้วทุกคน ทุกพรรคการเมืองคงจะนำไปเสนอที่ประชุมของพรรคการเมืองการต่างๆ ไม่ว่า พรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีส่วนผลักดันนโยบายเพื่อไปสู่การปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น

น.ส.งามศุกร์ รัตนเสถีตร อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โครงการสานเสวนานี้ จัดมาแล้ว 5 ครั้ง โดยสลับกันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดือนละ 1 ครั้ง ในเวลา 1 ปี โดยทุกครั้งจะมีการสรุปและทำเป็นข้อเสนอ พร้อมแถลงต่อสื่อมวลชน โดยผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ แต่ละคนเข้าร่วมเสวนามาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

การเสวนาว่าในโครงการนี้ มีการนำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภาคใต้ 2555-2557 และนโยบายการบริหารงานและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเป็นฐานในการเสวนา และจัดทำข้อเสนอ โดยข้อเสนอที่ได้จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงการสานเสวนา นายวันมูหะมัด นอร์ได้กล่าวในวงเสวนาว่า นักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะต้องมีพื้นที่ร่วมกันในการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับข้อเสนอจากการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 6 ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 ตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และในขณะนี้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ที่ประชุมมีความเห็นว่า ทั้งนโยบาย และยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติใช้ได้ผลจริงในพื้นที่

ประเด็นที่ 2 ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ระบุว่าจะ “จะน้อมนำหลักรัฐประศาสโนบายของล้นเกล้าราชกาลที่ 6 ข้อที่ 1 ที่ได้ทรงฯ วางไว้ว่า “วิธีปฏิบัติการอย่างใด เป็นทางให้พลเมืองรู้สึกเห็นไปว่า เป็นการเบียดเบียนกดขี่ศาสนาอิสลาม ต้องยกเลิก หรือแก้ไขเสียทันที การใดจะจัดขึ้นใหม่ต้องอย่าให้ขัดกับลัทธินิยมของอิสลาม หรือยิ่งทำให้เห็นเป็นการอุดหนุนศาสนามหมัดได้ยิ่งดี” มาใช้ในการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ” นั้น การปฏิบัติข้อนี้ น่าจะเป็นการปฏิบัติ “ลัทธินิยมของอิสลาม” ที่เป็นข้อวินิจฉัย 23 ข้อ ของอดีตจุฬาราชมนตรี ท่านประเสร็จ มะหะหมัด โดยข้อราชการได้รับทราบอย่างกว้าง เช่น ปิดประกาศข้อวินิจฉัยในที่ทำการอำเภอ และโรงเรียนทุกแห่ง อนึ่ง ขอให้ผู้บังคับบัญชากำชับข้าราชการให้เคารพประเพณีนิยม โดยเฉพาะในเรื่องทางเพศอย่างเคร่งครัด และจะต้องลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ละเมิดอย่างจริงจัง

ประเด็นที่ 3 ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ ระบุว่าจะ “ส่งเสริมให้มีส่วนสรรหาเพื่อบรรจุแต่งตั้งผู้มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่” นั้น การปฏิบัติอาจจะเริ่มจากการขออนุมัติให้มีอัตรากำลังของข้าราชการเป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการบรรจุแต่งตั้งผู้มีภูมิลำเนาเป็นส่วนใหญ่ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรเสนอแนะกระทรวงต่างๆ ส่งข้าราชการที่เข้าใจ และตั้งใจจริงมาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มิใช่ผู้ที่ขาดความสนใจหากต้องการเพียงดำแหน่ง และใจจดจ่อกับการขอย้ายจากพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้ปฏิบัติตามหลักรัฐประศาสโนบายล้นเกล้าราชการที 6 อย่างจริงจัง

ประเด็นที่ 4 ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ระบุว่าจะ “เร่งพัฒนาความยุติธรรมกระแสหลักให้สอดคล้องกับความเป็นจริง รวดเร็ว และเป็นธรรม” ที่ประชุมมีความเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมมีความล่าช้า การสอบสวนและส่งฟ้องยังไม่เป็นธรรม เช่นมีการ “ผ่อนฟ้อง” และระว่างปี พ.ศ.2552-2554 มีการยกฟ้องถึง 63-78 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นที่ 5 ในประเด็นทางเศรษฐกิจ ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ระบุว่าจะดำเนินการถึง 23 เรื่องนั้น ที่ประชุมขอเน้นว่า ขณะนี้ปัญหาความไม่สงบเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับการมีงานทำของเยาวชน ซึ่งจะช่วยนำพลังของเยาวชนมาสู่การสร้างสรรค์ อนึ่ง ในปัจจุบัน มีพลเมืองไทยไปประกอบอาชีพที่ประเทศมาเลเซียจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพการขายอาหาร เช่น ต้มยำ อาจมีสูงถึง 200,000 คน จึงขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พิจารณาดำเนินการให้มีการตกลงในระดับนโยบายระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวก และการสนับสนุนการประกอบอาชีพ และลดค่าใช้จ่ายและอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งการขอใบอนุญาตการทำงานได้สะดวก และมีค่าจ่ายที่ลดลง

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนภาคใต้(dsj)
กำลังโหลดความคิดเห็น