xs
xsm
sm
md
lg

“รัฐ-ฝ่ายค้าน” ต้องให้คำตอบ ภัยธรรมชาติโยงวงจรค้าไม้เถื่อน-เปิดช่องโกงงบประมาณ/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

วันเวลาเดินเร็วเมื่อบวกกับคนทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการที่ยังย่ำเท้าอยู่กับคำว่า “เช้าชามเย็นชาม” จึงทำให้วันนี้ เกิด 2 ปรากฎการณ์ขึ้นมาในบ้านเมืองของเราอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ภาพของชาวบ้านในหลายจังหวัดของภาคกลางที่ออกมาปิดถนนประท้วงเรื่องความไม่เป็นธรรมจากเงินชดเชยเรื่อง “น้ำท่วม” ของปีที่แล้ว ที่ยังได้รับไม่ทั่วถึง และเกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม และไม่เป็นธรรม

และอีกภาพหนึ่ง นั่นคือภาพของผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน และได้รับความสูญเสียจากอุทกภัย หรือน้ำท่วมครั้งใหม่ ทั้งในภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศ และมีแนวโน้มว่า ปีนี้จะเกิดอุทกภัยเร็วกว่าปกติ และจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากความแปรปรวนของธรรมชาติ และการที่คนรุกรานธรรมชาติ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขายไม้เถื่อน และการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร

โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าไม้ ทั้งป่าชุมชน และป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อนำเอาพื้นที่มาทำการเกษตร เช่น สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืช “เชิงเดี่ยว”

อุทกภัย หรือฝนตกน้ำท่วมนั้น โดยข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของฤดูกาล ซึ่งในอดีตไม่ใช่เรื่องของความเดือดร้อน และเรื่องของความสูญเสียที่ใหญ่หลวงเหมือนกับปัจจุบัน เมื่อก่อนคนในภาคใต้ โดยเฉพาะแถบสงขลา พัทลุง จะเรียกฤดูฝน หรือฤดูมรสุมว่าเป็น “น้ำพะ” หรือ “น้ำหลาก” นั่นเอง ทุกคนรู้ตัว และมีการเตรียมตัวรับสถานการณ์ ตั้งแต่เตรียมเรือ เตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค รับมือกับอุทกภัยจึงไม่เกิดความสูญเสียใดๆ มากมาย นอกจากสูญเสียโอกาสในการทำงานเท่านั้น

แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีการปล่อยให้ทำลายธรรมชาติ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำ แม่น้ำลำคลองที่สาธารณะด้วยการถมที่ สร้างสิ่งปลูกสร้าง ทำให้แผ่นดินงอกมาใหม่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ การไม่สนใจกับการตื้นเขินของแม่น้ำลำคลอง และแม้แต่ทะเลสาบกลายเป็นสิ่งซ้ำเติมให้เกิดความสูญเสียมากมายในทุกฤดูฝนที่เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาใน 2-3 ปี ที่เกิดความเสียเสียอย่างใหญ่หลวง เมื่อเกิดอุทกภัยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ มีการสรุปประเด็นของความสูญเสียไว้ 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นที่ 1 คือ มีการทำลายพื้นที่ป่าอย่างมากมาย จนเป็นเหตุให้ทุกครั้งที่เข้าหน้าฝน จึงเกิดน้ำป่า และดินถล่มอย่างรวดเร็ว ประเด็นที่ 2 มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ซึ่งถูกบุกรุก ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ซึ่งมีเอกสารสิทธิที่เป็นของประชาชน

ปัญหาแรกคือ ปัญหาการรุกป่าสงวน เป็นปัญหาที่แก้ได้ด้วยการใช้กฎหมาย ดำเนินการกับนายทุน และประชาชนผู้บุกรุก เพียงแต่ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่ได้ให้ความสนใจในการตรวจตราการบุกรุก ไม่สนใจในการจับกุมผู้บุกรุก โดยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขบวนการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติทุกแห่งยังเดินหน้าตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างปกติสุข โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

และนอกจากเจ้าหน้าที่หน่วยที่มีหน้าที่ป้องกันและจับกุมโดยตรง ขาดความรับผิดชอบ ขาดความกระตือรือร้นในการป้องกันปราบแล้ว ส่วนหนึ่งยังเข้าไป “เอี่ยว” กับผลประโยชน์กับกลุ่มนายทุน และกลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าอีกต่างหาก และแม้แต่นายทุนในเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตก็ร่วมมือกับนายทุนในการซื้อไม้เถื่อนแทนไม้ยางพาราไสใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จนเป็นเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างคึกคัก และขนส่งกันอย่างครึกโครมในแต่ละค่ำคืน

ส่วนเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกรที่กลายเป็นว่า ไม่สามารถป้องกันการไหลของน้ำ และป้องกันการพังทลายของดินจนกลายเป็นการซ้ำเติมให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่มซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งควรจะเป็นเรื่องที่ต้องมีการแก้ไขกันอย่างจริงจังก็ไม่ได้รับการแก้ไข

ใช่ คงไม่มีใครเถียงว่า วันนี้ หรือพรุ่งนี้คงจะไม่มีใครไปสั่งชาวบ้านได้ว่าอย่าปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะพืชเชิงเดี่ยวอย่างปาล์มน้ำมัน ยางพารา เป็น พืชเศรษฐกิจ เป็นเส้นเลือดใหญ่ เป็นลมหายใจของชาวบ้าน โดยเฉพาะในภาคใต้

แต่ในกระทรวงเกษตรฯ ยังมีกรมวิชาการที่กินเงินเดือนหลวงกันอยู่อย่างคึกคัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการควรจะออกมาแนะนำวิธีการในการแก้ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของชาวบ้านว่าจะแก้ไขอย่างไร เช่น เมื่อปลูกยาง ปลูกปาล์มแล้ว ยังต้องปลูกพืชอะไรบ้างแซมเอาไว้ หรือต้องปลูกหญ้าแฝก หรือหญ้าอะไรเอาไว้เพื่อเป็นการยึดดิน ซึ่งเชื่อว่ามีวิธีการในการแก้ปัญหาของพืชเชิงเดียว เพียงแต่ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างรู้ปัญหาแต่ไม่มีหน่วยงานไหนลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เป็นระบบ และเป็นวาระแห่งชาติที่แท้จริง

เพราะหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยต่างคิดเป็นเพียงเรื่อง “เยียวยา” เรื่องจ่ายเงินทำแทนเพื่อฟื้นฟู เพื่อซ่อม เพื่อสร้างสิ่งสาธารณูประโยชน์ที่เสียหายจากการเกิดอุทกภัย และข้าราชการเกือบทุกหน่วย ยังถนัดในการรายงานเท็จ รายงานความเสียหายเกินความจริง เพื่อที่จะได้งบประมาณมากๆ และจะได้มีการหักหัวคิว หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง จากเงินงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชน

ประเทศเราผ่านภัยพิบัติมาหลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2554 ที่ผ่านมา ถือว่าทุกภาคทุกพื้นที่พบกับภัยพิบัติแบบสาหัสสากรรจ์ที่สุด แต่แปลกที่รัฐบาลกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ยังไม่มีความคิดริเริ่มในการป้องกันในการมองไปข้าหน้า เพื่อวางแผนแก้ไขในระยะยาว ดังนั้น ทุกหน่วยงาน จึงยังไม่มีอะไรใหม่ หรือยังไม่เกิดกระบวนการแก้ปัญหาของประเทศชาติอย่างจริงจัง

และสุดท้าย ในปี 2555 นี้ ทุกคนก็จะเห็นภาพเดิมๆ ในการรับมืออุทกภัย หรือวาตภัย คือ ตั้งงบแจกสิ่งของ จ่ายเงินชดเชย จ่ายเงินเยียวยา โดยมีนักการเมืองเดินสายสร้างภาพสร้างข่าว และในที่สุด ก็จะปิดท้ายด้วยข่าวการโกงกินงบประมาณน้ำท่วมเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา

ถามว่า เราจะให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดต่อไปหรือ และเราจะก้าวพ้นเรื่องเหล่านี้อย่างไร รัฐบาล และฝ่ายค้านควรจะมีคำตอบที่ชัดเจนให้แก่ประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น