xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเร่งขยายพันธุ์มะม่วง “นาทับ” ลูกละเกือบ 2 กก.รับออเดอร์ทั่วไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรชาวสวนมะม่วงใน ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เร่งขยายพันธุ์ “มะม่วงนาทับ” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดอยู่ใน ต.นาทับ มีออเดอร์สั่งจากทั่วประเทศ และผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด

วันนี้ (4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวสวนมะม่วงในพื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เร่งขยายพันธุ์มะม่วงนาทับ ซึ่งเป็นมะม่วงที่มีต้นกำเนิดแห่งเดียวอยู่ที่ ต.นาทับ และเป็นสายพันธุ์มะม่วงของ จ.สงขลา ที่เป็นที่รู้จักของตลาด เนื่องจากเป็นมะม่วงที่ให้ผลใหญ่ลูกละเกือบ 2 กิโลกรัม เนื้อละเอียด เมล็ดบาง และรสชาติหวานอร่อย และมีเกษตรกรในจังหวัดสงขลา และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศสั่งจองต้นพันธุ์ เพื่อนำไปปลูกเป็นผลไม้เศรษฐกิจ

นายม่อน สุภารัตน์ อายุ 60 ปี เกษตรกรในพื้นที่หมู่ 6 บ้านนาทับ ต.นาทับ ซึ่งปลูกมะม่วงนาทับในเนื้อที่ 6 ไร่ มากว่า 20 ปี บอกว่า การขยายพันธุ์มะม่วงนาทับจะใช้วิธีทาบกิ่งบนต้นแม่ โดยจะเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลง และไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป จากนั้น จึงตัดไปลงในถุงเพาะชำส่งขายได้เลย โดยจะส่งขายในราคาต้นละ 80-100 บาท ซึ่งขณะนี้มีออเดอร์จากเกษตรทั่วประเทศที่สั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดปี และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่ซื้อนำไปปลูกในบริเวณบ้าน

โดยมะม่วงนาทับจะเริ่มออกผลตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ซึ่งมะม่วงแต่ละต้นจะให้ผลผลิตประมาณ 100-200 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบัน ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท และราคาไม่ตก เนื่องจากผลผลิตตามท้องตลาดยังมีน้อย และเป็นมะม่วงอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่น่าสนใจ เพราะตลาดยังมีความต้องการสูง

ทั้งนี้ นายม่อน ได้เผยถึงเคล็ดลับในการปลูกมะม่วงนาทับให้ได้ผลผลิตดี และมีคุณภาพในระยะยาวว่า นอกจากจะใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอกให้ต้นมะม่วงปีละ 1-2 ครั้งแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การหมั่นดูแล และตัดแต่งกิ่งมะม่วงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 2 ปี หลังจากปลูก ซึ่งเป็นช่วงที่มะม่วงเริ่มให้ผลผลิต เพราะจะมีหนอนมะม่วงเข้ามาชอนไช และกัดกินกิ่งของต้นมะม่วง โดยสังเกตได้จากที่บริเวณกิ่งของต้นมะม่วงจะมีรูเล็กๆ สีน้ำตาลคล้ายกับถูกเจาะ หากเจอกิ่งมะม่วงที่มีลักษณะดังกล่าวจะต้องรีบตัดกิ่งนั้นทิ้งทันที ก่อนที่หนอนมะม่วงจะกัดกินท่อน้ำเลี้ยงจนกิ่งมะม่วงแห้งเหี่ยว ซึ่งหากปล่อยไว้นานเกิน 3 เดือน หนอนมะม่วงจะชอนไช และกัดกินไปจนถึงแกนในของลำต้น ทำให้ต้นมะม่วงหักโค่น และตายลงในที่สุด







 นายม่อน สุภารัตน์ อายุ 60 ปี เกษตรกร
กำลังโหลดความคิดเห็น