พัทลุง - เกษตรพัทลุงพลิกวิกฤตน้ำท่วมขังที่นาเป็นโอกาส ทำ “นาบัว” ส่งขายในพื้นที่และต่างจังหวัด รายได้เรือนแสนต่อปี
ดอกบัวเป็นราชินีแห่งไม้น้ำที่ได้รับความนิยมตลอดมา เนื่องจากบัวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และด้วยสีสันสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้บัวเป็นที่ต้องการของท้องตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ราคาของบัวจะสูงขึ้น ซึ่งนอกจากพื้นที่ปลูกบัว หรือ “นาบัว” พบได้มากแถวภาคกลางแล้ว ยังพบว่าในจังหวัดอื่นๆ ก็มีการปลูกบัวแทนการทำนาข้าวเช่นกัน เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมขังทำให้ผลผลิตข้าวไม่คุ้มค่า และการทำนาบัวสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ปลูกได้มากกว่าอีกด้วย
โดยนาบัวแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีพื้นที่ปลูก 200 กว่าไร่ นอกจากจะส่งขายภายในประเทศแล้ว ก็กำลังจะส่งไปทำตลาดในต่างประเทศด้วย แหล่งนาบัวดังกล่าวอยู่ใน พื้นที่ตำบลพญาขัน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
นายสมชาติ นาคะวิโรจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลพญาขัน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ตำบลพญาขันเริ่มทำนาบัวมาหลายสิบปีแล้ว โดยจะปลูกคนละประมาณ 10-20 ไร่ สำหรับพันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ บัวหลวงพันธุ์ฉัตรขาว และฉัตรแดง นอกจากนี้ บัวหลวงยังเป็นบัวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก เกษตรกรนิยมปลูกมากกว่าบัวชนิดอื่น โดยสาเหตุที่เกษตรกรหันมาทำนาบัวแทนนาข้าวนั้น เนื่องจากสภาพพื้นที่มีน้ำมากตลอดปี และช่วงหลังมีการทำนาแบบไม่มีการจัดการวางรูปแบบระบบน้ำที่ดี ทำให้พื้นที่บางส่วนทำนาไม่ได้ผลผลิตที่คุ้มค่า
ทั้งนี้ ราคาดอกบัวภายในจังหวัดพัทลุงเฉลี่ยอยู่ที่ดอกละ 0.70 บาท ส่วนตลาดต่างจังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสงขลา ราคาโดยเฉลี่ยดอกละ 2.20 บาท โดยผลผลิตของบัวประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะถูกส่งไปจำหน่ายต่างจังหวัด และประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จะจำหน่ายภายในจังหวัดพัทลุง
สำหรับผลผลิตบัวจะเก็บได้ทุกวัน ไร่ละประมาณ 800 ดอกต่อวัน ปีหนึ่งเก็บได้ประมาณ 120 วัน ก็จะให้ผลผลิตเท่ากับ 96,000 ดอก ราคาจำหน่ายดอกละ 2.20 บาท เท่ากับ 211,200 บาทต่อปี เมื่อคำนวณต้นทุนกำไร จำหน่ายได้ 211,200 บาท จากทุน 35,000 บาท กำไรเท่ากับ 176,200 บาท ถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากทีเดียว
ด้าน นายนิมิตร จันทรผลึก อายุ 46 ปี เกษตรกรเจ้าของนาบัว อยู่บ้านเลขที่ 30/1 ม.7 ต.พญาขัน มีพื้นที่ปลูกบัวอยู่กว่า 50 ไร่ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำนาบัวว่า ตนเริ่มปลูกบัวเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว โดยช่วงเริ่มต้นได้เช่าพื้นที่ปลูกบัวประมาณ 3 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกไปแล้วจำนวน 80 ไร่ ถือเป็นรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดพัทลุงและภาคใต้เลยก็ว่าได้
โดยปลูกสัดส่วนบัวฉัตรขาวต่อฉัตรแดงอยู่ที่ 80 : 20 เปอร์เซ็นต์ เดิมทีที่ปลูกบัวครั้งแรกเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จึงเช่าที่ทำนาบัวเพราะบริเวณนี้จะมีน้ำขังอยู่ตลอด ถ้าปลูกข้าวก็ไม่ค่อยได้ผล ตอนแรกนำพันธุ์มาจากจังหวัดนครปฐม ซื้อมาในราคาไหลละ 3 บาท ช่วงแรกซื้อมาประมาณ 300-400 ไหล หลังจากนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์จากต้นที่มีอยู่แล้ว โดยการนำรถไถไปเหยียบเป็นร่องให้แตกขึ้นมาใหม่ แต่บัวที่ปลูกจะให้ผลผลิตเทียบกับการปลูกด้วยไหลครั้งแรกไม่ได้
สำหรับขั้นตอนการปลูกบัวคร่าวๆ เริ่มจากการเตรียมนาบัว โดยการทำคันนากว้างประมาณ 2 เมตร กันน้ำซึมเข้ามาในแปลงนาบัว ใช้รถไถนาเหมือนกับการทำนาข้าว เตรียมนา ปรับพื้นที่อยู่ประมาณ 3 เดือน สำหรับนาใหม่ย่อมจะเจอศัตรูพืชมากจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ ถ้าเป็นนาเก่าก็ไถแล้วใส่ปุ๋ยได้เลย พอเริ่มจัดการแปลงนาได้ทั้งหมดก็ถึงขั้นดำบัว ระยะประมาณ 5x5 เมตร ความห่างระยะนี้ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น ถ้าหญ้าขึ้นรกก็เอารถไถไปไถได้เลย อาจจะโดนบัวเล็กน้อยแต่ก็คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป
“ผลผลิตของนาบัว ปีแรกจะให้ผลผลิตสูงมากประมาณ 6,000 ดอกต่อแปลง นาเก่าประมาณ 3,000 ดอก ปลูกประมาณ 3 เดือน ก็ให้ผลผลิต ถ้าเป็นนาเก่าก็ต้องใช้ปุ๋ยคอกช่วยเสริม แต่การให้ยาและปุ๋ยจริงๆ แล้วต้องเลยระยะ 3 เดือนขึ้นไป ก่อนให้ผลผลิตประมาณ 15 วัน” เกษตรกรเจ้าของนาบัวกล่าว