xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากรัฐ-NGO ใคร-ทำอะไร-แก้ไขปัญหา “ซ้อมทรมาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองบรรณาธิการ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เวทีแบบจำลองป้องกันซ้อมทรมาน
ดูเหมือนว่า “ซ้อมทรมาน” ยังกลายเป็นหนามตำใจ ทิ่มแทงทั้งคนซ้อม และคนถูกซ้อม ขืนปล่อยให้มีต่อไป จะยิ่งกลายเป็นประวัติบาดแผล เพิ่มเงื่อนไขความเจ็บแค้น จนหาทางสร้างสันติสุขไม่เจอ ทุกฝ่ายจึงไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ แม้สถิติการร้องเรียนลดลงแล้ว

ในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง แบบจำลองการป้องกันการซ้อมทรมาน โครงการ Social support for detainee families in Songkhla prison center เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เป็นเวทีหนึ่งที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ได้ระดมความเห็นในการป้องกัน และแก้ปัญหา

ในโอกาสที่กลุ่มด้วยใจ (Hearty Support Group) นำเสนอผลการประเมินผลกระทบของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในเรือนจำกลางสงขลาจากการถูกซ้อมทรมาน ซึ่งพบรูปแบบการซ้อมทรมาน 33 รูปแบบ บวกกับผลกระทบทางจิตใจที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง แต่ละฝ่ายทำอะไรไปบ้าง ทางออกจะเป็นอย่างไร อ่านความคิดกันได้ ดังนี้

......................................................
จากบนซ้าย-ล่างซ้าย-ขวา : พ.ต.อ.ปราบพาล มีมงคล, พยุงศักดิ์ กาฬมิค และอุดม คุนรา
“ยินดีให้ทุกคนตรวจสอบ”
พ.อ.ชุมพล แก้วล้วน คณะทำงานกระบวนการยุติธรรม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)

ผมเคยทำงานกับตัวแทนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมหลายครั้ง เราเห็นว่า การทรมานลดลง ในอดีตอาจจะมีบ้าง แต่เรายืนยันว่า ปัจจุบัน เราทำงานภายใต้กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน

ใครก็ตามที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ ต้องได้รับการตรวจสอบ กฎหมายทั้งกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ให้อำนาจไว้ แต่ในกรณีเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่ากรอบของกฎหมาย เช่น กรณีทำร้ายร่างกายอิหม่ามยะผา กาเซ็ง เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบ ถูกพักราชการ และชดใช้ทางแพ่ง

ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าประชาชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ปัญหาคือ กฎหมายพิเศษ มีไว้เพื่อใช้ปกป้องชีวิตพี่น้องประชาชน ใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

ท่านปรารภว่า ต้องหาทางยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อให้สังคมโลกเข้าใจ ความต่างของกฎอัยการศึก กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ต้องให้ศาลออกหมาย เมื่อเกิดปัญหา เราเข้าหา พูดจา แลกเปลี่ยนกัน รับฟังกัน เข้าใจกัน ไปด้วยกันได้

กรณีปิดล้อมตรวจค้น เราไม่เห็นเหตุการณ์ เราต้องรับฟังทั้งสองฝ่าย คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาทำร้ายพี่น้องประชาชน ใครที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

การทำงานร้อยเหตุการณ์ อาจจะมีพลาดบ้างแต่ไม่ใช่เจตนา ถ้ามีการท้วงติงมาเราพร้อมแก้ไข เราทำงานยึดกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน ยินดีให้ทุกคนเข้ามาตรวจสอบ

พรุ่งนี้ที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผมจะไปนั่งตรวจสอบคำร้อง ขอเชิญน้องๆ เข้าร่วม เพราะความจริงจะนำมาสู่การแก้ไข และนำมาซึ่งสันติสุข

เราจะเปิดมิติใหม่ของการทำงานร่วมกัน แต่ต้องเคารพในบทบาทของกันและกัน และอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน เช่นจับกุมตาม พ.ร.ก.ก็จะมาอยู่กับตำรวจไม่ได้ อะไรที่ผิดพลาดที่กฎหมาย ก็ต้องไปแก้กฎหมาย

ใครก็ตามที่กระทำความผิด ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีได้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ศาลสั่งลงโทษจำคุก คดีแพ่งอยู่ระหว่างชั้นศาล

ผมอ่านหนังสือ เจอข้อความว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิมีชีวิตโดยกำเนิด” อยากให้ท่านมองอีกด้านหนึ่งคือ ช่วยมองคนที่ก่อเหตุ ช่วยมอง และหาวิธีแก้ไข ทุกเรื่องมีทางออก ร้องเรียนมาทางใดก็ได้

“ตำรวจเลิกทรมานแล้ว”
พ.ต.อ.ปราบพาล มีมงคล รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน (รอง ผบก.สส.) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ศชต.)

เราได้รับการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ผมต้องไปชี้แจงทุกสัปดาห์ต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร เราเป็นผู้กล่าวหาบ้าง ถูกกล่าวหาบ้าง

เมื่อกล่าวถึงการทรมาน ก็มักหันมามองที่ตำรวจ สมัยก่อนมีการตอกเล็บ บีบขมับเป็นจารีตของนครบาล จนพัฒนามาเป็นการสอบสวนปัจจุบัน สมัยผมมี Police tactic มีการเอาถุงครอบหัว ให้นั่งบนน้ำแข็ง ซึ่งปัจจุบันยกเลิกแล้ว

ถามว่า ทรมานทำไม 1.เพื่อให้ได้คำรับสารภาพ 2.การขยายผล ต้องถือว่าเป็นความหวังดีของเจ้าหน้าที่ที่ต้องการทราบข้อมูล เมื่อมีการร้องเรียน ก็มีการคุยกันใหม่ว่า ทรมานทำไม เป็นการละเมิดกฎหมาย ต้องถูกออกจากราชการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย ต้องโทษติดคุก

สำหรับกฎหมายที่ใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเอื้อให้มีการทรมานคือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)

สถานที่ที่เอื้อต่อการทรมาน สถานที่แรกคือ ค่ายทหาร ซึ่งตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวได้ 7 วัน สถานที่ 2คือศูนย์พิทักษ์สันติ (อยู่ภายในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา) และศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) (อยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว) ซึ่งทั้ง 2 แห่ง เป็นสถานที่ควบคุมตัวตามที่กำหนดขึ้นภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยสามารถควบคุมตัวได้ 30 วัน สถานที่ 3 คือที่ควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ที่สถานีตำรวจภูธร มีอำนาจควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง จากนั้นนำไปควบคุมตัวต่อโดยการฝากขังที่เรือนจำ

เราถูกตรวจสอบ 54 คำร้องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่มีการร้องเรียนเลยที่เรือนจำ อาจเป็นเพราะมีกฎระเบียบดี เราพูดคุยกันว่า ทำไมไม่มีการร้องเรียนที่เรือนจำ เราตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ร้องเพื่อหักล้างคำรับสารภาพของตนเอง ทีนี้เราต้องมาดูสถานที่ที่เราพูดถึงว่า ทั้ง 4 สถานที่ต้องมีระบบการตรวจสอบและป้องกัน ซึ่งต้องมีกฎหมาย หรือออกระเบียบซึ่งเห็นว่า ยิ่งกว่ามีระเบียบ

ขอเสนอว่า ต้องมีกฎหมาย หรือกฎระเบียบ ในส่วนของศูนย์พิทักษ์สันติ ตั้งแต่ปี 2548 เราไม่พบการทรมาน จับตัวแล้วสามารถเข้าเยี่ยมได้ทันที เมื่อรับตัวแล้วมีการบันทึกรับตัวโดยแพทย์ ที่ผ่านมา มีการวิสามัญฆาตกรรม คนที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม เคยถูกนำตัวมาซักถามที่ศูนย์พิทักษ์สันติ แล้วได้รับการปล่อยตัวไป เจ้าหน้าที่ที่ซักถามกำลังถูกเพ่งเล็งว่า สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติได้อย่างไร เมื่อปล่อยไปแล้วยังเกิดเหตุอีก

“เรือนจำไม่มีความลับอีกต่อไป”
อุดม คุ่นรา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา

จริงๆ แล้วโอกาสที่กลุ่มด้วยใจจะได้เข้าไปศึกษาในเรือนจำ มีน้อยมาก ผมไม่เห็นด้วยในช่วงแรกที่เปิดโอกาสให้สังคมเข้าไปศึกษา แต่เพราะสังคมเปิด เราก็ต้องเปิดเรือนจำศึกษาความจริงที่เกิดขึ้น

วันนี้โดยเฉพาะในช่วงต้นน้ำของคดี คือ เมื่อตำรวจจับกุมผู้ร้ายปากแข็ง จึงต้องมีการสอบสวน ซึ่งเทคนิคในการสอบสวนเป็นของเจ้าหน้าที่แต่ละคน ผู้กระทำผิดย่อมต้องปฏิเสธแน่นอน ซึ่งการตั้งข้อหาจะร้ายแรงและหนักเบานั้น เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ แต่คนทำผิดก็ไม่อยากรับโทษอยู่ดี

กรณีคดีฆ่าพระที่วัดพรหมประสิทธ์ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ตำรวจจับกุมผู้ต้องหา 17 ราย แล้วมาฝากขังที่เรือนจำกลางปัตตานี ขณะนั้น ผมเป็นผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดปัตตานี ทั้ง 17 คน มีอาการวิตกกังวล ผมจึงเชิญมาให้ความรู้ทางกฎหมาย มีผู้ต้องหาคนหนึ่ง ตอนแรกไม่ได้รับสารภาพ แต่หลังจากให้ความรู้ทางกฎหมายว่า ถ้าคุณรับสารภาพ โทษหนักจะกลายเป็นเบา หรือจะรับภาคเสธก็ต้องมีเหตุผล แต่ถ้าปฏิเสธ ศาลจะพิพากษาลงโทษหนัก กลับมาวันนี้ศาลลงโทษเพียง 5 ราย

เมื่อผู้ร้ายปากแข็ง มีหลักฐานชัดๆ ยังไม่รับสารภาพจะให้ทำอย่างไร แต่วันนี้ผมเชื่อว่า วิธีการสอบสวน เราปิดไม่ได้ ทั้งโทรศัพท์มือถือ ทั้งยาเสพติด มีญาติร้องเรียนทุกวัน สิ่งที่เกิดขึ้นขอพูดแทนหน่วยงานรัฐว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานมันยาก ถ้าไปเจาะลึกๆ เขายอมรับว่าทำจริง จะว่าจับแพะทั้งหมดก็ไม่ใช่

วันนี้หน่วยงานรัฐทำงานยากมาก แม้การทรมานไม่ได้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่อย่างเดียว แต่เกิดจากผู้ต้องขังด้วยกันเอง ผมคิดว่า ไม่มีหน่วยไหนอยากให้เกิดขึ้น เว้นแต่สุดท้ายไม่ไหวแล้ว แม้แต่เจ็บป่วย เราพาไปโรงพยาบาลเรายังล่ามโซ่ หากผู้ต้องขังหนีไป ก็กลายเป็นเรื่องประมาทเลินเล่อไป วันนี้เรือนจำเปิด อยากให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ใช้เวทีนำเสนอสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล และนำไปปรับเพราะบริบทของแต่ละหน่วยงานต่างกัน ไม่ได้คิดว่าใครมาก้าวล่วง แต่ต้องรักษาให้ดีที่สุด

ปัจจุบัน คนที่อยู่ในเรือนจำ สิ่งที่ต้องการคือความจริง เราไม่มีความลับ เรื่องที่เกิดขึ้นและอาจมีผลกระทบต่อเรือนจำ มีเรื่องสงสัยว่า การนิยามของการทรมานว่า เป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ได้รับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นว่า การบริหารความสันติในทางพื้นราบ คนที่มีส่วนรับผิดชอบคือทุกคน ปัจจุบัน บทบาทกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เป็นองค์กรที่เข้ามาเก็บข้อมูลแล้วก็ไป เมื่อ ICRC มองแยกระบบแต่พื้นที่มองแยกส่วนไม่ได้ เราจะแยกผู้ปฏิบัติและผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้

“4 ปัจจัยป้องกันทรมานได้แน่”
เสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

วันนี้น่าจะมีคำตอบว่า ทำไมจึงจะไม่มีการทรมาน เป็นคำตอบเดียวที่ทุกคนต้องการปัจจัยแรกที่สำคัญที่จะไม่มีการทรมาน คือศาสนา ทำไมต้องมีศาสนา เพราะศาสดาทั้งหลายต้องการสันติสุข เมื่อมีสันติสุขจะมีการทรมานไม่ได้ นั่นหมายถึง ทุกคนยึดมั่นในหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด

จะทำอย่างไรให้ยึดมั่นเคร่งครัด ศาสนาอิสลามต้องดะวะห์ (ชักชวน) จิตใจตัวเองก่อน อะไรที่เป็นข้อห้ามก็ไม่สามารถทำได้ ปัจจัยในความสำเร็จคือ สุจริต ยึดมั่นในคำสอนของศาสนาที่บริสุทธิ์ ขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำหน้าที่โดยสุจริต ถ้าทำตรงนี้ได้จบ หลายประเทศไม่ได้คิดถึงจริยธรรม แล้วจะหาความสงบได้อย่างไร ถ้าไม่บริสุทธิ์ใจปัญหาจะเกิดขึ้น

ปัจจัยที่ 2 กลัวไม่ได้ความจริงทำให้เกิดการทรมาน ต้องมีการทรมานจึงจะยอมพูด ในขณะที่คนที่ถูกจับตัวมา ก็พูดโกหก ถ้ายึดมั่นในจริยธรรมก็ต้องกล้าบอก แต่ถ้ามีปัจจัยแรก คือยึดมั่นคำสอนกันทั้งสองฝ่าย เหตุการณ์ก็ไม่เกิด

ปัจจัยที่ 3 ทุกคนเห็น แต่ห้องสอบสวนใครจะเห็น เพราะทำในห้องลับ เป็นเรื่องที่ไม่เปิดเผย ทำให้ไม่โปร่งใส ไม่มีคนรู้เห็นทำให้เกิดการทรมานได้ และทำให้เกิดความแค้นทั้งสองฝ่าย

ปัจจัยที่ 4 กฎของสังคมที่ลงโทษเด็ดขาด ถ้าฝ่ายใดกระทำผิดก็ควรได้รับการลงโทษทั้งกฎหมาย และกฎสังคม

ในเรื่องข้อเสนอต่อการสร้างแบบจำลองป้องกันการทรมานนั้น ลองจำลองว่าที่นี่เป็นที่คุมขัง ใครจะเป็นคนถูกซ้อม และใครจะเป็นคนสอบ เพื่อให้เหมือนจริง และทำให้ได้รสชาติ ท่านไปหาหนามมาแทงซอกเล็บ แล้วท่านจะรู้ว่าการทรมานหนักขนาดใด

“พูดความจริง การทรมานไม่เกิด”
พยุงศักดิ์ กาฬมิค สำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

สำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. เคยได้รับเรื่องร้องเรียนการทรมานจากเรือนจำปัตตานี แต่ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนอีกเลย

งานของ ศอ.บต.ส่วนใหญ่เป็นงานพัฒนา เกี่ยวข้องกับเรื่องการทรมานน้อยมาก เพราะเวลาสอบถามไปยังหน่วยงานความมั่นคง เราก็ไม่พบหลักฐาน ซึ่งการกล่าวหาต้องมีหลักฐานพอสมควร

ปัจจุบัน มีระเบียบเรื่องการเยียวยา ขอให้เรามองว่า เราจะคืนคนที่ได้รับผลกระทบเข้าสู่สังคมอย่างไร ถ้ามองเป็นบวก มันก็คลุมทุกเรื่อง ตั้งแต่การให้หลักทรัพย์ในการประกันตัว การร่วมค้นหาความจริง สิ่งที่สำคัญคือ ศอ.บต.อยากให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม สามารถของบสนับสนุนในการทำงานร่วมกันได้

ผมฟังเรื่องการทรมาน ว่าเหตุที่ต้องมีการทรมานคือ ไม่พูดความจริง หากเราคิดกันเล่นๆว่า ทำอย่างไรให้พูดความจริง เป็นเรื่องที่สำคัญ การไม่พูดความจริง มีผลกระทบมาก บางคนอาจจะต้องถูกคุมขัง เพราะอีกคนไม่พูดความจริง สุดท้าย อยากให้ทุกภาคส่วนที่มีข้อเสนอดีๆ มาคุย หารือ และร่วมกันทำงานด้วยความเข้าใจ

BART VERMEIREN
ผู้ประสานงานกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ประเทศไทย (Regional Delegation ICRC)

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเป็นองค์กรอิสระ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทำงานในประเทศที่มีเหตุการณ์ไม่สงบ และเหตุรุนแรงต่างๆ โดยมีอนุสัญญาเจนีวา เป็นกรอบในการทำงาน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย

อนุสัญญาฉบับนี้ ได้ให้ความหมายของสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เชลยศึก กลุ่มที่ 2 คือ คนบาดเจ็บ ใครที่บาดเจ็บต้องได้รับการรักษา กลุ่มที่ 3 เป็นผู้ถูกกักขัง ต้องได้รับการดูแลอย่างมีศักดิ์ศรี และการทรมานเป็นข้อห้าม ที่สำคัญ เมื่อเราเข้าไปเยี่ยมถ้ามีข้อกล่าวหา เราจะพูดคุยกับคนที่รับผิดชอบ เช่น ที่เรือนจำ แต่ไม่มีการประณามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ICRC มีสำนักงานย่อยที่จังหวัดปัตตานี อยู่ในชุมชนปากน้ำ ซอย 23 เขตเทศบาลเมืองปัตตานี สามารถเข้ามาพูดคุยได้
จากบนซ้าย-ล่างซ้าย-บนขวา-ล่างขวา : อาริยา คูหา, พ.อ.ชุมพล แก้วล้วน, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู
“เมื่อคนเชื่อมั่น รัฐก็จะได้ความจริง”
อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

ศูนย์ทนายมุสลิม เป็นองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียน และให้ความช่วยเหลือด้านคดีความมั่นคง มีสำนักงานอยู่ 4 แห่ง คือที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

เรายังไม่เคยพบการทรมานในเรือนจำ ซึ่งจากคุยกับผู้ต้องหา พบว่า มีความสบายใจในการอยู่ในเรือนจำมากกว่าอยู่ที่คุมขังอื่น

การทรมานเกิดขึ้นมานานแล้ว มีสถิติการร้องเรียน ระหว่างปี 2550-2554 จำนวน 291 เรื่อง ในระยะหลังๆ มีจำนวนน้อยลง อาจเกิดจากการปรับนโยบายของรัฐเอง อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ยังมีการร้องเรียนเรื่องถูกทรมานอยู่ โดยที่จังหวัดยะลามี 8 เรื่อง ที่ปัตตานี มี 2 เรื่อง ที่นราธิวาส มี 2 เรื่อง และที่สงขลา มี 1 เรื่อง

เราแนะนำให้ผู้ร้องเรียนไปแจ้งความ และร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และยังพบว่า มีการบ่ายเบี่ยงในการร้องทุกข์ด้วย เราดีใจที่รัฐยอมรับการตรวจสอบของเรา แม้มีบางหน่วยงานที่ยังไม่ยอมรับ เราพยายามสร้างบ้านเราเป็นสุข เกิดสันติภาพโดยเร็ว แม้เราจะทำหน้าที่ต่างกันแต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน

ดีใจที่ได้ทำงานร่วมกัน ถ้ามีใครเอาเท้าราน้ำ เราก็ต้องดำเนินการร้องเรียนไปตามปกติ นอกจากนี้ ขอแสดงความเห็นคือ การเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวแม้มีระเบียบให้เยี่ยมได้ตั้งแต่วันแรก แต่บางหน่วยงานยังไม่สามารถเยี่ยมได้จริง และทำให้ชาวบ้านใจไม่แน่ใจ

ประเด็นที่สองคือ แถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรต้องตรวจสอบก่อน เช่น กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ทุกหน่วยงานยอมรับแล้วว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้ทรมาน แต่โฆษกของทหารยังไม่ยอมรับ หรือกรณีวิสามัญชาวบ้าน 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่เจ้าหน้าที่แถลงการณ์ว่า ชาวบ้านมีอาวุธ

ประเด็นสุดท้าย คือความจริง ตราบใดที่หน่วยงานยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ก็อาจจะยังไม่ได้ความจริง

“ซ้อมทรมาน ต้องห้ามทุกกรณี”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เป้าหมายในการทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน คือ ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ในการทรมาน ปัจจุบัน มีการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ และการใช้อาวุธ เราต้องการหยุดการทรมาน และให้การทรมานเป็นอาชญากรรมตามกฎหมาย ซึ่งยังไม่เป็นไปตามกฎหมาย

สิ่งที่เราต้องทำไปพร้อมกันคือ สร้างเสริมความเข้าใจของหน่วยงาน และท้องถิ่น สิ่งที่ยังขาดอยู่และจำเป็นมาก คือการเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ จากการศึกษาของกลุ่มด้วยใจทำให้เห็นว่า เราจะให้คนกลับสู่สังคมอย่างปกติอย่างไร

การทรมานเป็นหน้าที่รัฐในการป้องกัน สอบสวน และเยียวยา ซึ่งจากนิยามการทรมานว่า เป็นการทำร้ายร่างกายของบุคคลต่อบุคคล เป็นการทำร้ายร่างกายธรรมดาไม่ใช่การทรมาน แต่การที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ไปทำหน้าที่จับกุม สอบสวน ทำให้เกิดความเจ็บปวดสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือใจ เพื่อให้ได้ข้อสนเทศ คำรับสารภาพ ข่มขู่บุคคลที่สาม ลงโทษ การกระทำใดๆ บนพื้นฐานการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะกระทำเอง หรือกระทำโดยการยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ เช่น การยิงข้างหูอาจจะไม่เจ็บ แต่มีผลต่อจิตใจ

และแม้ไม่ใช่การทรมาน การบังคับให้สารภาพ แต่การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ก็เป็นเรื่องต้องห้ามตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ มีข้อยกเว้นว่า การลงโทษตามกฎหมายไม่เป็นการทรมาน แต่ก็ยังเป็นเรื่องถกเถียงว่า ในบางประเทศยังมีการลงโทษตามกฎหมายที่อาจเข้าข่ายการทรมาน เช่น การเฆี่ยนตี การประหารชีวิตก็ยังเป็นที่ถกเถียง

ดังนั้น การห้ามทรมานต้องเกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าสถานการณ์ใด เช่น มีการจับกุมเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่ เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องสงสัยได้ เราสามารถใช้วิธีการใดเพื่อช่วยเด็กที่ถูกลักพาตัว เราจะใช้เป็นข้อยกเว้นเพื่อช่วยชีวิตเด็กได้หรือไม่ เป็นช่วงเวลา Ticker bomb asset ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เราจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือต้องห้ามทุกกรณี ภาพที่เห็น เป็นภาพที่เกิดขึ้นจากการทรมาน ที่เกิดร่องรอยตามร่างกาย แต่สามารถหายไปในระยะเวลาไม่กี่วัน บาดแผลทางกายหายได้ แต่บาดแผลทางจิตใจยังอยู่ต่อไป

ในอเมริกาก็เป็นที่ถกเถียงกัน เพราะหลังการก่อการร้ายมีการทรมานเกิดขึ้น ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ประเทศไทยเองเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และกำลังอบรมเจ้าหน้าที่ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการทรมาน

ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการทรมาน เรามีสิทธิที่จะพบญาติระหว่างถูกควบคุมตัว มีสิทธิติดต่อกับโลกภายนอก มีสิทธิได้รับทราบข้อกล่าวหา สิทธิที่จะได้พบทนายความอิสระ สามารถพูดคุยได้ สิทธิที่จะได้พบแพทย์ และรับทราบผล

เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง แม้เราจะอยู่คนละสถาบัน เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร ตอนนี้ก็มีศูนย์ทนายความมุสลิมรับเรื่องร้องเรียน การตรวจเยี่ยมไม่ว่าโดยภาคประชาสังคมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็สามารถทำได้ หลายขั้นตอนสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่บางขั้นตอนยังถูกจำกัดอยู่ หรือบางเรื่องเราสามารถใช้วิธีอื่นๆ เช่น การสังเกตการณ์คดีเพื่อร่วมตรวจสอบ

ขอนำเสนอให้มีคดีแพ่งที่เกิดจากการทรมาน เมื่อฟ้องคดี ก็มีการไกล่เกลี่ยจนผู้เสียหายพอใจและได้รับการเยียวยา โดยจำเลยยอมรับว่า ผู้เสียชีวิตไม่ได้กระทำความผิด สุดท้ายขอนำเสนอร่างกฎหมายป้องกันการทรมาน ซึ่งเป็นการทำงานขององค์กรเอกชนที่กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาการทรมาน ซึ่งจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป

“ไม่เกินวิสัยที่จะแก้ปัญหาทรมาน”
อารียา คูหา นักจิตวิทยา

โลกนี้มี 3 สิ่งที่ต้องรักษาคือ ความดี ความจริง และความงาม หากชีวิตเราโดนกระทำถูกรังแก คุณค่าความเป็นมนุษย์เราเป็นอย่างไร มีใครอยากอยู่ในเรือนจำบ้าง ขออ้างมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ห้ามการทรมาน แต่กลับไปดูสถิติ พบว่ามีร้อยละ 10 ที่เสียชีวิตจากความรุนแรง เช่น วัยรุ่นถูกทำร้ายร่างกาย ข่มเหง ปัญหายาเสพติด

เราอยู่ในความรุนแรง ยิ่งสังคมเติบโตขึ้น ความรุนแรงก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นตามเมืองใหม่ และตามประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความรุนแรงเป็นสิ่งท้าทายแต่ไม่เกินวิสัยที่จะแก้

อับดุลอาซิส ตาแดอินทร์ “ซ้อมทรมานลด แต่วิสามัญฆาตกรรมเพิ่ม?”
สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.)

การทรมานเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ชาวบ้านไม่กล้าร้องเรียน ความจริงในเรือนจำก็มีการทรมาน แต่ไม่กล้าร้องเรียน หรือมีความพยายามที่จะให้จบโดยเร็ว มีสองกรณีที่เป็นข้อสังเกตคือ การซ้อมทรมานลดลง การจับกุมเพิ่มขึ้น การวิสามัญฆาตกรรมเพิ่มขึ้น การทรมานผิดกฎหมาย ที่ผ่านมา ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้เลย การร้องเรียนมีแต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ

อภิศดา ดาหมิ
ดิฉันเป็นน้องสาวของผู้ที่ถูกทรมานในชั้นสอบสวนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีการตบบ้องหูทั้งสองข้าง ทำให้การได้ยินไม่เหมือนเดิม ถูกทุบหลัง ไหล่ ศีรษะ ทำให้เจ็บปวด ใช้นิ้วกดหลังใบหู ทำให้ไม่สามารถขยับกรามเพื่อกินดื่มได้นานกว่า 7 วัน

นอกจากนี้ ยังข่มขู่ว่าจะเอาชีวิตและญาติ หากไม่ยอมสารภาพ มีการสอบสวนในรถตู้หน้าบ้าน เมื่อเห็นพ่อและแม่ ก็จะถามว่า กระสุนจะฝากไว้กับใคร ระหว่างพ่อกับแม่ ทำให้เครียด สิ้นหวัง ไม่รู้จะอยู่ทำไม ตอนนี้พี่ชายเสียชีวิตเมื่อปี 2554 ระหว่างถูกขัง ไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น