ตรัง - ชาวไม้ฝาด จังหวัดตรัง เปิดเวทีประชาคมหมู่บ้าน ลงมติไม่ให้โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันชื่อดังเข้ามาดำเนินกิจการ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวในพื้นที่
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่โรงอาหารโรงเรียนวัดไม้ฝาด ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง กลุ่มชาวบ้านและผู้นำชุมชน ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ไม้ฝาด ประมาณ 100 คน ได้ร่วมกันเปิดเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ นายธนเศรษฐ์ ไตรตระกูลชัย วิศวกรเครื่องกล และ น.ส.วารี วรรณวโรทร ตัวแทนโรงงาน เข้าชี้แจงข้อมูลการก่อสร้างโรงงานหีบน้ำมันปาล์มในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา ให้ได้รับทราบข้อเท็จจริง ก่อนจะเปิดให้มีการซักถาม และลงประชามติ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการออกใบอนุญาตสร้างอาคาร ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง และไม่ขัดต่อข้อกฏหมาย
นายธนเศรษฐ์ กล่าวว่า ทางโรงงานได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารโรงงานบีบน้ำมันปาล์ม ชนิดอาคารโครงเหล็กชั้นเดียว 1 หลัง ขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร ในเนื้อที่ 45 ไร่ เพื่อรับซื้อผลปาล์มน้ำมันร่วงจากชาวบ้าน แล้วนำไปบีบส่งจำหน่ายยังบริษัทที่สกัดน้ำมันปาล์มอีกทอดหนึ่ง โดยผลปาล์มร่วงที่รับซื้อจะนำไปเทในบ่อเก็บก่อนจะนำเข้าเตาย่าง โดยใช้ไม้ฟืนส่งผ่านความร้อนไปยังท่อเตาเผา 3 ลูก แล้วลำเลียงส่งสายพานไปยังเครื่องหีบน้ำมัน เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มออกมา ส่วนกากก็จะเก็บเพื่อรอส่งขายให้แก่เกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ต่อไป
สำหรับกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ไอน้ำ ไม่ก่อให้เกิดน้ำเสีย ควัน และกลิ่น ที่ส่งผลให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งโดยปกติแล้ว โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่จะใช้สารเคมีเป็นตัวเร่งทำให้ผลปาล์มหลุดจากขั้วเร็วขึ้น แต่โรงงานแห่งนี้จะไม่ใช้สารเคมีจึงไม่มีผลกระทบ แต่หากโรงงานสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนก็ยอมปิดในทันที ดังนั้น หากมีโรงงานดังกล่าวเกิดขึ้น คนในพื้นที่ก็จะได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ และที่สำคัญยังก่อให้เกิดอาชีพใหม่ คือ การรับจ้างเก็บผลปาล์มร่วง กก.ละ 2.50 บาท ซึ่งเป็นอาชีพที่ยังไม่มีใน จ.ตรัง แต่ใน จ.กระบี่ มีอาชีพดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ หลังจาก นายธนเศรษฐ์ ได้ชี้แจงและตอบข้อสงสัยแล้ว แต่กลุ่มชาวบ้านยังมีท่าทีกังวล และยังเคลือบแคลงใจประเด็นน้ำเสีย และกลิ่นอยู่ ซึ่งก็มีบางคนที่เห็นว่าเวลายืดเยื้อมามากแล้ว จึงเสนอให้ลงประชามติโดยไม่ต้องการฟังคำชี้แจงจากทางตัวแทนโรงงานอีก ทำให้ น.ส.วารี วรรณวโรทร ตัวแทนโรงงาน ต้องลุกขึ้นพูดขอความเห็นใจจากชาวบ้านด้วยความน้อยใจ ว่า โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันที่จะก่อสร้างในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา เป็นแค่โรงงานขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับโรงงานรับซื้อน้ำยางทั่วไป ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านมลภาวะเป็นพิษ ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน พร้อมสัญญาว่าจะให้ความร่วมมือกับชาวบ้าน ในการทำหนังสือถึงกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ ต.ไม้ฝาด เป็นพื้นที่สีเขียวต่อไป
อย่างไรก็ตาม ต่อมากลุ่มชาวบ้านได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า จะไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ เพราะต่างไม่มั่นใจว่าจะควบคุมไม่ให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษต่อชุมชนได้จริงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.สิเกา มีโรงงานยางพารา และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มหลายแห่งที่ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่า จะไปกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล รวมทั้งการเป็นเมืองแห่งการศึกษา และการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากลงประชามติแล้ว กลุ่มชาวบ้านต่างก็เดินทางกลับในทันที