ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวประมงพื้นบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ ล่องเรือรณรงค์ปกป้องระบบนิเวศสองฝั่งคลอง หลังชลประทานมีโครงการขุดลอกคลองธรรมชาติให้เป็นคลองคอนกรีต เพื่อระบายน้ำ อ้างแก้ปัญหาน้ำท่วม ชาวบ้านหวั่น เป็นโครงการรองรับเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปล่อยน้ำเสียลงทะเลทำลายแหล่งทำกิน
วันนี้(23 พ.ค.) ชาวประมงพื้นบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา นำเรือประมง 8 ลำ ออกรณรงค์ปกป้องระบบนิเวศ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมริมคลอง ซึ่งกรมชลประทานจะทำการขุดลอกคลองธรรมชาติให้เป็นคลองคอนกรีต ในโครงการระบบระบายน้ำ จากปลักปลิง-จะนะ ซึ่งชาวบ้านได้นำเรือล่องไปตามลำคลองสะกอมความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ฝั่งคลองได้ทราบ ซึ่งตามโครงการดังกล่าว จะมีการขุดลอกคลองทั้งใหม่และเก่าจาก อ.นาทวี 7 สาย และมาแยกเป็น 2 สายที่ บ้านบ่อโชน ต.สะกอม 2 สาย เพื่อรองรับโครงการอ่างเก็บน้ำนาปรัง พื้นที่ อ.นาทวี ขนาดประมาณ 25,000 ไร่
นายเจะล๊ะ อนันทบริพงศ์ ชาวบ้าน ต.สะกอม บอกว่า ข้อมูลการพัฒนาประเทศที่ออกสู่ประชาชนในขณะนี้ จะออกมาแบบแยกส่วนคล้ายๆ กับจิกซอ เช่นเดียวกับแผนพัฒนาของ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ประชาชนทราบทีละส่วน เช่น โรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 และโรงที่ 2 ที่กำลังจะก่อสร้าง และท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ระดับภูมิภาคเอเชีย ที่กำลังเดินหน้าโครงการ ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านไม่รู้สึกว่า จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด การแยกส่วนเหล่านี้จึงยากที่คนใดคนหนึ่ง จะเห็นภาพรวมทั้งหมดและตามทันได้ เช่นเดียวกับโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ ซึ่งกรมชลประทานอ้างว่า เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม มีทั้งหมด 7 สาย ด้วยกัน โครงการตั้งอยู่ที่ลุ่มน้ำนาทวี คลองนาทวีจะไหลผ่าน อ.จะนะ ตอนปลายแยกออกเป็น 2 สาย สายที่ 1 แยกที่บ้านท่าล้อ อ.จะนะ และไหลลงทะเลบ้านปากบางสะกอม และอีกสายไหลลงคลองนาทับ และจะลงสู่ทะเลเช่นเดียวกัน
นายเจะล๊ะ เล่าต่อว่า มีโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อปี 2553 คือที่บ้านเลียบ มีการขุดลอกคลองเป็นคอนกรีตตลอดแนวคลองชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ทรัพยากรถูกทำลายจนหมดสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวบ้านในพื้นที่จึงไม่ยอมที่จะให้ทางกรมชลประทานมาทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมตามแนวคลองธรรมชาติเป็นอันขาด เพราะการขุดลอกคลองดังกล่าว เพื่อที่จะรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นใน อ.จะนะ ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด
นายเจะล๊ะ ยังบอกอีกว่า หากขุดลอกคลองแล้ว น้ำในคลองจะถูกควบคุมโดยกรมชลประทาน แล้วชาวบ้านจะไม่มีสิทธิ์ใช้น้ำเหมือนเมื่อก่อน ถึงขั้นอาจจะต้องมีการซื้อน้ำมาใช้ก็เป็นได้
จากการที่ ทีมข่าว เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมล่องเรือเพื่อสำรวจพื้นที่กับชาวบ้านนั้น เห็นได้ว่าคลองสะกอมทั้งสองฝั่งคลองอุดมไปด้วยต้นไม้ โดยเฉพาะต้นจาก ที่ทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านแถบนี้มากมาย นอกจากใบจากจะนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ต้นจากยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
นายเจะเดน อนันทบริพงศ์ ชาวบ้านบ้านสะกอม อายุ 74 ปี เล่าให้ฟังถึงความสำคัญของต้นจากว่า ใบจาก สามารถนำไปห่อขนม หรือเอามาเย็บเป็นหลังคามุงบ้าน ยอดจากก็เป็นใบจากที่ใช้สูบกับยาเส้น และที่สำคัญต้นจากเป็นที่วางไข่ของ กุ้ง ปู และเพาะพันธุ์ปลาได้เป็นอย่างดี วิถีชีวิตของคนแถบนี้ก็อาศัยกุ้ง ปู ปลา ในลำคลอง นอกจากนี้ยังมีต้นปอ ต้นแก้มกะหมอ ที่นำมารักษาโรคมะเร็งได้ และต้นอื่นๆ อีกมากมาย หากมีการขุดลอกแล้วเปลี่ยนเป็นคอนกรีต สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะสูญหายไป มันเป็นการทำลายบ้านเมืองมากกว่าการพัฒนา สมัยก่อนน้ำในลำคลองแห่งนี้ชาวบ้านสามารถนำมาดื่มได้ อาบได้ แต่ปัจจุบันขนาดมีโรงงานแค่ไม่กี่โรง น้ำก็เริ่มเปลี่ยนสี แม้แต่จะอาบยังไม่ได้เพราะมันไม่สะอาด
ด้านนางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี หรือ ยีด๊ะ แกนนำกลุ่มค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่มาร่วมลงเรือสำรวจด้วย กล่าวว่า จะขอเสนอให้พี่น้องประชาชนชาว ต.สะกอมได้ทำการประเมินรายได้ของตนเองต่อปี ว่าอาชีพประมงที่เราได้ผลประโยชน์จากทะเล ต่อครอบครัวจะได้เท่าไหร่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบการที่เราต้องสูญเสียแหล่งทำมาหากินตรงนี้ไป และอยากให้พวกเราได้เข้าร่วมโครงการอาหารโลก ของ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพราะเขาบอกว่า อ่าวไทยเป็นครัวโลก เพราะถ้าหากมีการขุดลอกคลอง ไม่มีต้นไม้คอยซึมซับน้ำเสียก่อนลงสู่ทะเล ไม่มีปลา มีกุ้ง ให้เราได้หาเลี้ยงชีพ
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้ล่องเรือไปจนถึง บ้านเลียบที่มีการขุดลอกคลองไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้ดูถึงความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่ชาวบ้าน บ้านเลียบได้รับหลังจากมีการขุดลองคลอง จากสองฝั่งคลองที่เคยเขียวขจีด้วยต้นไม้ กลายเป็นผืนดินที่แห้งแล้ง แล้วทั้งหมดมานั่งล้อมวงเสนอความคิดเห็นกัน และจะกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหากันต่อไป ทั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวจะมีการนัดแนะ ประชุมหารือกัน ที่ลานหอยเสียบ ทุกๆ บ่าย วันจันทร์