xs
xsm
sm
md
lg

แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม... เพื่อให้ประชาธิปไตยกินได้/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย.....บรรจง นะแส

“เรียกร้องประชาธิปไตยแต่ไม่สนใจการผูกขาด” เป็นวาทกรรมที่นักเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ หรือตอบได้แต่ก็เป็นไปในเชิงเพ้อฝันข้างๆ คูๆ ว่าถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เมื่อไหร่ การผูกขาดต่างๆ ก็จะหมดไป แต่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการในการพัฒนาสังคม” เขาจึงสนใจแต่วิธีการในการเอาชนะการเลือกตั้ง โดยไม่ตอบโจทย์ว่าหลังชนะการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนจะหลุดพ้นจากความอดอยากยากจนอย่างแท้จริงนั้นจะต้องทำอย่างไร ปัญหาทางโครงสร้าง ปัญหาการผูกขาดหลายๆ รูปแบบที่กัดกร่อนสังคมไทยให้อ่อนแออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นจะต้องแก้อย่างไร

โจทย์สำหรับการไปให้ถึงซึ่งเป้าหมายในความหมายของความเป็นประชาธิปไตยตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยพูดไว้ก็คือ “ประชาธิปไตยคือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” แต่เครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น มันถูกผูกติดอยู่กับวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจในการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนนั้น มันเกี่ยวโยงกับหลายปัจจัย ไม่ว่าวิธีการเข้าสู่อำนาจในการบริหารจัดการผลประโยชน์โดยรวมของประชาชน ที่ถูกผูกขาดอยู่ในมือของนักการเมืองที่ทำมาหากินกับผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม และข้าราชการประจำที่ฉ้อฉล ระบบการผูกขาดทั้งอำนาจรัฐ และผูกขาดทรัพยากรโดยรวมของชาติจึงกระจุกตัวอยู่ในมือของคนพวกนี้เพียงไม่กี่สกุล

ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน ไม่ว่าทรัพยากรพลังงาน เช่น ก๊าซ น้ำมัน สินแร่ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายทั้งในทะเล และบนบกที่ตกอยู่ในมือของต่างชาติ หรือการรวมหัวกันผูกขาดเอาผลประโยชน์เข้าเฉพาะกลุ่มเฉพาะพวกของตัวเอง โดยการเล่นแร่แปรธาตุในการใช้เทคนิคทางกฎหมายอย่างในกรณีการแปรรูป ปตท.ทำให้สังคมไทยเริ่มตระหนักกันมากขึ้น ตระหนักว่าวันนี้ทรัพยากรของชาติโดยรวมโดยเฉพาะก๊าซและน้ำมัน ถ้าได้มีการนำมาจัดการให้ถูกต้องชอบธรรม ก็จะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของคนในชาติได้

การเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนสมบัติของชาติให้กลับมาเป็นของคนไทยส่วนใหญ่จึงเป็นกระแสที่ยากที่ใครจะขัดขวางได้อีกต่อไป การค้นหาข้อมูล จับพิรุธ ตลอดถึงการออกมาตอบโต้ ชี้ให้เห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนผูกขาด ในการขึ้นค่าก๊าซ น้ำมัน ของบริษัทต่างๆ จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น และจริงจังจากภาคประชาชนที่ตื่นรู้ และมีคุณภาพในสังคมเพิ่มมากขึ้น เพราะปัญหาทางด้านพลังงานเชื่อมโยงไปยังปัญหาหลักๆ ของคนส่วนใหญ่ ที่จะส่งผลให้อยู่ดีกินดี หรือต้องเดือดร้อนแสนสาหัสจากค่าครองชีพที่เชื่อมโยงกับปัญหาด้านพลังงาน ในขณะที่ผู้ประกอบการมีแต่กำไร และกำไรก็เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในแต่ละปี ปล่อยให้เจ้าของทรัพยากรอย่างประชาชนเจ้าของประเทศต้องประสบชะตากรรมจากการเอารัดเอาเปรียบจากการผูกขาดดังกล่าว

การเคลื่อนไหวเพื่อนำเอาทรัพยากรของชาติกลับมาเป็นของชาติ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่คนในชาติของตัวเองได้กลายเป็นปัญหาทางสากล หลายๆ ประเทศในพื้นที่ต่างๆ ของโลกใบนี้เริ่มตระหนักและเห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบของบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ที่เข้าไปขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องก๊าซและน้ำมัน รัฐบาลของโบลิเวีย เวเนซุเอลา ได้ทำให้โลกทั้งโลกช็อกด้วยมาตรการที่แข็งกร้าวในการจัดการกับบริษัทต่างชาติด้านพลังงานที่เข้าไปขูดรีดเอาทรัพยากรของชาติเขาโดยใช้มาตรการทางกฎหมายในการออกกฤษฎีกายกเลิกการสัมปทาน และส่งกำลังทหารเข้าไปยึดแท่นเจาะหลุมก๊าซและน้ำมัน เพื่อต่อรองการจัดสรรผลประโยชน์เรื่องพลังงานในพื้นที่กันใหม่หมด ทั้งค่าภาคหลวง ภาษี อายุการสัมปทาน ที่สำคัญคือ ใช้อัตราก้าวหน้าในการแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรและผู้ทำการผลิต ทำให้ประเทศชาติของพวกเขาได้รับผลประโยชน์ในส่วนของกำไรกว่า 80% ในขณะที่ประเทศไทยของเราได้ผลประโยชน์คงที่ไม่เกิน 15% เท่านั้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 นับถึงปีนี้ก็ปาเข้าไป 40 กว่าปี แม้ในข้อเท็จจริงจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ถึง 6 ครั้ง คือ ในการแก้ไขครั้งแรกใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 331 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ครั้งต่อมาก็ในปี 2516, 2522, 2532, 2534 และสุดท้ายเมื่อปี 2550 แต่การแก้ไขในแต่ละครั้ง กระทำเพียงเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติอื่นๆ เช่น การปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม และกระชับอำนาจในการตัดสินใจของฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่เคยมีการแก้ไขครั้งไหนที่จะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม สร้างความชอบธรรมในเรื่องผลประโยชน์ที่ประเทศชาติควรจะได้รับที่มากไปกว่า 15% รัฐสภาไทยถ้าจริงใจ นี่เลยงานของท่าน แก้ไขกฎหมายทาสฉบับนี้เสีย...กล้าไหมล่ะ.
กำลังโหลดความคิดเห็น