คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
จำได้ว่าผมเคยเขียนถึงเรื่องประหลาดที่ปลายด้ามขวาน และทิ้งท้ายไว้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ถึงเรื่องแปลกประหลาดของหน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัดที่จังหวัดสงขลา ซึ่งชื่อว่า “วัฒนธรรมจังหวัด” แต่ดันไปทำหน้าที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสถานบันเทิง และเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เปิดซ่องโสเภณีที่ผิดกฎหมาย ให้เป็นซ่องโสเภณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เพราะหน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัดมีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแลสถานบันเทิงที่เรียกกันว่า “คาราโอเกะ” และไอ้คาราโอเกะนี้แหละ ที่โดยข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นสถานที่ร้องเพลงกันหรอก เพราะส่วนใหญ่ 90% เป็นสถานที่ขายตัวของหญิงขายบริการที่ประจำอยู่ในคาราโอเกะต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ร้องเพลงกับแขก และถ้าตกลงกันค่าตัวกันได้ก็พากันไปเปิดห้องเพื่อ “เสพสม” กันตามความต้องการ
ในอดีตการควบคุมดูแลสถานบริการที่เรียกว่า “คาราโอเกะ” เป็นหน้าที่ของตำรวจและฝ่ายปกครองในการให้ใบอนุญาตให้เปิดร้านคาราโอเกะได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่น่าประหลาด และน่าขำขันว่า สถานบันเทิงคาราโอเกะต้องไม่มีหญิงบริการ ต้องไม่ขายเหล้า ขายเบียร์ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนที่เข้าไปเที่ยวคาราโอเกะต้องการความบันเทิง และต้องการหาความสำราญกับหญิง บริการ ถ้าไม่มีหญิงสาว ไม่มีเครื่องดื่ม เหล้า เบียร์แล้ว อย่างนั้นร้องเพลงที่บ้านไม่ดีกว่าหรือ
และเพราะการเปิดร้านราคาโอเกะมีหลักเกณฑ์ที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกนี่เอง ร้านคาราโอเกะจึงกลายเป็นช่องทางหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลอย่างสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดในการแสวงหาผลประโยชน์ ตั้งแต่การออกใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต่างอยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ เพราะมีทั้งหญิงบริการ มีทั้งการขายเครื่องดื่ม โดยมีหญิงบริการนั่งดริงก์ซึ่งเข้าขายสถานที่ขายบริการทางเพศ เพียงแต่ไม่มีห้องพักเพื่อให้ “เสพสม” แต่พากันออกไปยังห้องพัก รีสอร์ต และโรงแรมม่านรูด
ดังนั้น ที่กล่าวว่าสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตีทะเบียนให้แก่ซ่องโสเภณีจึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง เพราะคาราโอเกะคือสถานที่ขายบริการทางเพศชนิดแอบแฝง เช่นเดียวกับนวดแผนโบราณ ที่หมอนวดทุกคนมีสิทธิ์ที่จะขายบริการทางเพศกับแขกผู้มานวดถ้าตกลงกันได้
และนอกจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจะมีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้เปิดซ่องได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยังใช้ช่องว่างของกฎหมายเรียกเก็บผลประโยชน์จากร้านคาโอเกะเป็นรายเดือน เพราะอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า ร้านราคาโอเกะทุกแห่งมีหญิงสาวนั่งดริงก์ เมื่อมีการนั่งดริงก์ก็มีการขายเครื่องดื่มของมึนเมา ดังนั้น จึงต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นรายเดือนตามแต่จะตกลงกัน เพราะหากไม่จ่าย หมายถึงถูกถอนใบอนุญาต
วันนี้ ธุรกิจคาราโอเกะเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมากในทุกหัวเมือง เพราะเป็นธุรกิจที่แปรสภาพจากซ่องโสเภณีที่ผิดกฎหมาย มาเป็นซ่องโสเภณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในจังหวัดสงขลาร้านคาราโอเกะมีจำนวนมาก เฉพาะที่บ้านด่านนอก ต.สำนักขาม อ.สะเดา มีร้านคาราโอเกะกว่า 50 แห่ง ไม่นับรวมที่ อ.หาดใหญ่ และ อ.เมืองมีนับร้อยแห่ง แม้แต่เมืองเล็กๆ อย่าง อ.นาทวี ยังมีร้านคาราโอเกะเกือบ 20 แห่ง และเกือบทุกแห่งคือ สถานที่ขายบริการทางเพศดีๆ นั่นเอง
เม็ดเงินที่เป็นภาษีบาป และเป็นภาษีเถื่อนที่สถานบริการอย่างคาราโอเกะต้องจ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมจังหวัด ตำรวจ ปกครอง และอื่นๆ เดือนละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งคงไม่เฉพาะในจังหวัดสงขลาที่ร้านคาราโอเกะถือเป็นขนมหวานจานใหญ่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด แต่ในพื้นที่อื่นๆ ก็เป็นเช่นกัน
วันนี้เราพูดถึงปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะ จ.สงขลา เป็น 1 ใน 6 จังหวัดของประเทศไทยที่ถูกยูเอ็นขึ้นบัญชีว่าเป็นพื้นที่ของการค้ามนุษย์ และต้นตอของการค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดคือ ร้านคาราโอเกะนี่เอง แต่ในเมื่อต้นตอของปัญหากลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ และที่ตลกที่สุดคือ มีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้ดูแลและออกใบอนุญาต แล้วเราจะหวังได้เอย่างไรว่าเราจะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในจังหวัดสงขลาได้
คำว่า “วัฒนธรรม” มีนิยามที่หมายถึงสิ่งดีงามของชนชาติ โดยเฉพาะประเทศไทย มีวัฒนธรรมที่ดีงามมากมายที่ต้องอนุรักษ์ และส่งเสริมเอาไว้ให้แพร่หลายไปทั้งโลก ดังนั้น การให้สำนักงานวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลซ่องโสเภณี ซึ่งไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าคาราโอเกะหรือชื่อใดๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคำว่าวัฒนธรรมทั้งสิ้น ยิ่งเมื่อวัฒนธรรมจังหวัดต่างมีเรื่องฉาวโฉ่กับการเก็บ “ส่วย” น้ำกามจนกลายเป็นที่โจษจันไปทั่ว ยิ่งกลายเป็นเรื่องมัวหมองกับวัฒนธรรมของประเทศ
ผมมีความเห็นว่า เรื่องที่จะไม่มีซ่องโสเภณีในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลสถานบันเทิงอย่างร้านคาราโอเกะอย่างที่เป็นอยู่ เพราะนอกจากจะทำให้คำว่า “วัฒธรรม” ของชาติเสียหายอย่างมากทั้งในความรู้สึก และในข้อเท็จจริงแล้ว วัฒนธรรมธรรมจังหวัดยังใช้ช่องว่างของกฎหมายในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอีกด้วย
เรื่องของสถานบันเทิง เรื่องของร้านคาราโอเกะ เรื่องของร้านเกมส์ ควรจะเป็นเรื่องของฝ่ายปกครองของตำรวจในท้องที่ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รู้กฎหมาย และมีเจ้าหน้าที่ในแต่ละท้องที่สามารถควบคุมดูแลได้ดีกว่า และสิ่งสำคัญ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดไม่ควรเป็นสำนักงานที่มีหน้าที่ตีทะเบียนให้แก่ซ่องโสเภณี เพราะไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
ที่ผมหยิบยกเรื่องแปลกประหลาดมาเขียนถึง เนื่องจากเห็นว่ามติของ กพต. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำหน้าที่เหมือน ครม.น้อยในปลายด้ามขวาน หรือ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอ ครม.ให้ตั้งสำนักงานวัฒนธรรมธรรมจังหวัดขึ้นใน 56 อำเภอ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจะเป็นตัวกลางหรือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานกับองค์กรอื่นๆ และภาคประชาชนในการส่งเสริมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของประเพณีวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น หรือที่เสื่อมโทรมลง ให้มีการฟื้นฟูให้ฟูเฟื่องกลับมาอีกครั้ง
เพราะวันนี้ เอกลักษณ์ทางประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสภาวะที่เสื่อมโทรมอย่างน่าใจหาย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าวัฒนธรรมที่ไม่เข้มแข็งเป็นปัญหาหนึ่งของความแตกแยกทางสังคม ทางความคิด และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นวิธีคิดในการแก้ปัญหาปลายด้ามขวานที่ถูกต้อง
แต่ที่ผิดคือ ถ้าสำนักงานวัฒนธรรมที่ตั้งขึ้นเข้าไปทำหน้าที่ให้ใบอนุญาตร้านคาราโอเกะเก็บ “ส่วย” ซ่องโสเภณี เก็บเงินให้ร้านเกมส์ทำผิดกหมายทำลายเยาวชนได้อย่างที่เป็นอยู่ สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอจะมีความหมายอะไร เพราะนอกจากจะไม่ได้เป็น “ตัวช่วย” ในการแก้ปัญหาอย่างที่ต้องการแล้ว ยังจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “เงื่อนไข” ของการก่อความไม่สงบให้เพิ่มขึ้น
ปัญหาวันนี้ จึงอยู่ที่ทำอย่างไรที่จะให้หน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานที่ทำในเรื่องดีๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ดีๆ ไม่ใช่หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ใบอนุญาตให้เปิดซ่องโสเภณี จนเกลื่อนกลาดไปทั้งแผ่นดิน และนี่คือเรื่องประหลาดอีกเรื่องหนึ่งของประเทศไทย เป็นตลกร้ายที่หัวเราะไม่ออก และร่ำไห้ไม่ได้