ตรัง - คนตรังเตรียมจัดเวทีศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน-พลังงานทางเลือก ดึง “กฟผ.-กระทรวงพลังงาน-นักวิชาการ” ปะทะข้อมูล เพื่อเป็นฐานความรู้แจ้งเห็นชัดตัดสินใจ หวั่นความแตกแยกขั้วหนุน ต้านขยายวงกว้าง ดีเดย์ 30 พฤษภาคม และ 13 มิถุนายน นี้
จากผลการประชุมวานนี้ (16 พ.ค.) ที่ห้องดุสิตา 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วิทยาเขตตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งมีการหารือเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย (กฟผ.) โดยมีนักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) นักธุรกิจเอกชน ข้าราชการ สื่อมวลชน และชาวบ้านในจังหวัดตรังเข้ารวมประมาณ 25 คน
ประกอบด้วย นายมานิต วงษ์สุรีย์รัตน์ ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง, นางจิตชยา วรกัลป์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิเอกซ์พลอเรอร์ จำกัด, นายวิมล วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ครีเอชันส์ จำกัด, นายจรัญ ชื่นในธรรม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง, นายเสน่ห์ หมื่นโพธิ์ ข้าราชการบำนาญ, นายวานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง, นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน
น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศน์วิทยา (สจน.), นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ ประธานมูลนิธิหยาดฝน, นายศักดิ์กมล แสงดารา ผู้ประสานงานฝ่ายกฎหมายของมูลนิธิอันดามัน, นายชัยพร จันทร์หอม กรรมการสมัชาสุขภาพแห่งชาติ, นายศิลเรืองศักดิ์ สุขใส เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), นายชนะ เสียงหลาย นักเขียน, นางบุษบง เสียงหลาย ฯลฯ
นายมานิต กล่าวว่า ตอนนี้ในจังหวัดตรังมีทั้งฝ่ายที่คัดค้าน และสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างมาก จะทำอย่างไรให้มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงข้อมูลข้อดี ข้อเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขืนปล่อยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดสรรงบประมาณจัดจ้างบริษัท หรือมหาวิทยาลัยจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเกิดความขัดแย้งในตรังเพิ่มขึ้นอีก
นายวานิช กล่าวว่า คนตรังน่าจะหาเวทีเสวนาหารือกันว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพื่อหาทางออกจากด้วยเหตุและผลเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ทำอย่างไรเพื่อรับฟังเหตุผลกันได้ โดยการเชิญคนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นักวิชาการด้านพลังงาน โดยควบคุมสถานการณ์เพื่อจะได้ไม่นำไปสู่ความแตกแยกมากยิ่งขึ้น
นายมานิต เสนอว่า น่าจะมีวงสนทนาหารือเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ในเวลา 13.00 น. ทุกวันพุธของสัปดาห์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วิทยาเขตตรัง โดยคราวหน้าตนจะเชิญเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่พลังงานจังหวัดตรัง มาให้ข้อมูลก็ได้
นายพิศิษฐ์ เสนอว่า น่าจะมีวงคุยหารือกันเดือนละ 1 ครั้ง เนื่องจากหากคุยกันทุกสัปดาห์เกรงว่าจะถี่เกินไปที่จะปลีกตัวจากการงาน ทั้งนี้ อาจมีการลงไปดูสถานการณ์พื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้านบ้าง ด้านนายชัยพร เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการหารือกัน 15 วัน 1 ครั้ง
นายศักดิ์กมล กล่าวว่า ตนได้ยินข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า ตอนนี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืององค์การบริหารส่วนตำบล มีการเจรจากว้านซื้อที่ดินในตำบลวังวน อำเภอกันตังแล้ว น่าจะมีกระบวนการของคนตรังอย่างเร่งด่วน
น.ส.ศยามล กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นควรมีเวทีการให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 เป็นเวทีแรก และตามด้วยเวทีการให้ข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน และนักวิชาการด้านพลังงานมาให้ข้อมูลในครั้งถัดไป
นายภาคภูมิ กล่าวว่า เวทีการให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกน่าจะจัดในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยการเชิญพลังงานจังหวัดตรัง และตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรังมาให้ข้อมูล แล้วตามด้วยเวทีการให้ข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน และนักวิชาการด้านพลังงานมาให้ข้อมูลในวันที่ 13 มิถุนายน 2555
นายชัยพร กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นก็ตกลงตามที่นายภาคภูมิ เสนอโดยจัดเวทีพลังงานทางเลือกในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ที่ห้องชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดตรัง และเวทีการให้ข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนตกลงและเห็นด้วยกับข้อเสนอและร่วมกันเป็นเจ้าภาพประสานงานกับทุกภาคส่วนให้เกิดเวทีของคนตรังขึ้น
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้