อนุกูล อาแวปูเตะ
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฉก.ยะลา 13 ทหารพรานที่ 47 และกำลังฝ่ายปกครองจำนวนหลายนาย ได้ทำการปิดล้อมสวนยางพารา เขตรอยต่อหมู่ 6 และหมู่ 3 บ้านตะโล๊ะสะโตร์ ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา จนเกิดเหตุการณ์ยิงปะทะกับกลุ่มคนร้าย ซึ่งเป็นแกนนำก่อเหตุรุนแรงกลุ่มของนายฮูไบดีละห์ รอมือลี และนายสะกือรี จะปะกียา และพวกอีกจำนวน 14 คน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มคนร้ายเสียชีวิต จำนวน 5 คน โดย 1 ใน 5 ศพนั้น คือนายสะกือรี จะปะกียา (สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุแรงระดับปฏิบัติการ มีหมายจับ 7 คดี)
หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ยึดปืน เอ็ม 16 เล็กยาว จำนวน 1 กระบอก ปืนลูกซอง จำนวน 1 กระบอก ปืนพกสั้นขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นปืนของคนร้ายที่ใช้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กับกลุ่มคนร้าย ทำให้กลุ่มคนร้ายเสียชีวิต และมีอีกบางส่วนได้หลบหนีไป เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นเหตุสะเทือนขวัญ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสวนยางของชาวบ้านในหมู่บ้านตะโละสะโตร์ ซึ่งสื่อมวลชนนำไปพาดหัวข่าวในเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการวิสามัญกลุ่มคนร้ายในระดับแกนนำก่อความไม่สงบ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ผู้ตายทั้งห้าเป็นกลุ่มคนร้าย จนคนในหมู่บ้าน และญาติของผู้ตายมีความรู้สึกหวาดกลัวเป็นอย่างมาก
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 น.ส.มารีแย บือซา อายุ 43 ปี มารดาของ นายซับรี ดือราแม และนายลุกมัน ดือราแม กับ นายอับดุลมาเละ ยูโซ๊ะ อายุ 49 ปี ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของ นายอิสมาแอ แปเตาะ ทั้งสองคนเป็นผู้สูญเสียบุตรชาย และลูกเลี้ยงได้มาร้องเรียนที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา โดยอ้างว่า ตนเองอยู่ในเหตุการณ์วันเกิดเหตุ และทั้งสามคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบแต่อย่างใด ในวันดังกล่าว ผู้ตายทั้งสามกำลังจะไปดักนกในสวนยางตามประสาเด็กเยาวชนทั่วไป และได้กระทำเป็นประจำ เพราะอยู่ในช่วงเวลาปิดเทอม และทั้งสามคนกำลังเรียนหนังสืออยู่
วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา นำโดยประธานสาโรจน์ มะมิง ได้นำผู้ร้องทั้งสอง ไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงจากการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ มีความแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่พบจากการไปเก็บข้อมูลในพื้นที่บางประการ ขอให้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ค้นหาความจริงให้ปรากฏ โดยใช้กระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยครบถ้วนรอบคอบ และอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง รวมทั้งการบังคับใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความผิดต่อไป
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นอีกหนึ่งในเหตุการณ์วิสามัญที่เจ้าหน้าที่อ้างว่ายิงปะทะกับคนร้าย และข้อมูลจากการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะมีความแตกต่างกับข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ (บางส่วน) แม้เหตุการณ์นี้จะแตกต่างกับเหตุการณ์ที่ทหารพรานยิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 29มกราคม 2555 ที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งของแม่ทัพภาค 4 ได้สรุปว่า บุคคลที่อยู่ในรถกระบะเป็นผู้บริสุทธิ์ กำลังจะไปละหมาดศพคนตายในอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวยังมีผู้รอดชีวิตเหลืออยู่ ที่สามารถให้ความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แตกต่างกับเหตุการณ์นี้ที่เสียชีวิตทั้งหมด
แต่หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่า ว่าเฉพาะผู้ตายทั้งสามกำลังจะไปดักนกในสวนยาง ย่อมมีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอธิบายต่อสาธารณชนว่า พฤติการณ์ในวันเกิดเหตุบุคคลทั้งสามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร และการตายของทั้งสามคนมีลักษณะอย่างไร โดยเฉพาะมีการขัดขืน หรือต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้ต้องสูญเสียจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แม้กระบวนการทางกฎหมายจะต้องมีพนักงานสอบสวนชันสูตรศพร่วมกับพนักงานอัยการ แพทย์ พนักงานฝ่ายปกครอง แต่สิ่งที่จะต้องตระหนักเป็นอย่างมากในเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ญาติของผู้ตายในการที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในรักษาสิทธิของผู้ตายตามกฎหมาย
จากบทเรียนของเหตุการณ์ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้มีข้อเสนอแนะ ต่อแม่ทัพภาค 4 ให้พัฒนาสถาบันทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ชายแดนภาคใต้ให้เป็นสถาบันอิสระ สามารถรองรับการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน หรือประชาชนทั่วไป กรณีมีเหตุสงสัยเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าต่อสู้กับคนร้าย ทั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้มีกระบวนการตรวจสอบพยาน โดยมุ่งไปที่หลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการตรวจสอบเขม่าทั้งที่มือของผู้ตาย และอาวุธปืนที่พบในที่เกิดเหตุ รวมทั้งตรวจดีเอ็นเอโดยละเอียดในที่เกิดเหตุ เพื่อประกอบกับสภาพของศพ และร่องรอยบาดแผล รวมทั้งวิถีกระสุน ซึ่งบทบาทการตรวจสอบจากแพทย์นิติวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่สามารถให้คำตอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว
ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษที่สถานการณ์ในพื้นที่มีความขัดแย้ง และมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ในเหตุการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะทุกเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธ ย่อมสร้างบรรยากาศที่หวาดกลัวต่อประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้งญาติของผู้ตาย ประกอบกับการนำเสนอข้อเท็จจริงของสื่อก็มาจากการรายงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งย่อมต้องให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และเพื่อให้พ้นต่อความรับผิดตามกฎหมาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากระบวนการในการตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพื่อให้ได้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสามารถอธิบายเหตุการณ์ และให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และมิใช่อื่นใด นอกจากเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ตายและญาติแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่คือ เป็นการป้องกันข้อครหาจากการใส่ร้ายป้ายสีของผู้ไม่หวังดีนั่นเอง